ปลดล็อก ค็อกเทลมหัศจรรย์

๑๖ ก.ย. ๒๕๖๔ | การดู ๒๖๖๕ ครั้ง

image widget

การรักษาการติดเชื้อโควิด-๑๙ ในระยะเริ่มต้นมีกลุ่มยาที่เป็นแอนติบอดีชนิดโมโนโคลนอล(Monoclonal Antibody) หลายตัวเช่นยา Sotrovimab ที่กำลังอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการอาหารและยา และยา Cas-Imb (Regeneron) ที่เรียกกันว่า “แอนติบอดี ค็อกเทล”

 
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของประเทศไทย อนุมัติแบบมีเงื่อนไขภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินให้ใช้ยา “แอนติบอดี ค็อกเทล” (Antibody Cocktail) ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-๑๙ ได้ตั้งแต่วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศ นับเป็นนวัตกรรมทางยาล่าสุดที่จะช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยในวิกฤตการระบาดที่อาจเกินกำลังรับของระบบสาธารณสุขของประเทศ โดยเป็นการใช้ยาคาซิริวิแมบ (Casirivimab หรือ Cas) ควบคู่กับยาอิมดีวิแมบ (Imdevimab หรือ Imb) ซึ่งเป็นโปรตีนภูมิคุ้มกันที่คัดสรรเฉพาะด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์และโคลนนิ่งเพิ่มจำนวนให้มาก ภูมิคุ้มกันนี้ผลิตโดยเม็ดเลือดขาวชนิดพลาสมาที่สกัดจากหนูและผู้ที่หายจากโรคโควิด-๑๙  ทำหน้าที่ต่อต้านสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกายอย่างเฉพาะเจาะจง  โดยยาสองชนิดนี้จัดเป็นยาแอนติบอดีที่จำเพาะในการตรงเข้าจับเชื้อไวรัสได้ดีกว่าแอนติบอดีทั่วไป เพราะจัดอยู่ในกลุ่มยาภูมิลบล้างฤทธิ์ (Neutralizing monoclonal Antibody) คือทำให้ไวรัสเป็นกลาง อ่อนกำลังลง และยับยั้งการติดเชื้อในร่างกายไม่ให้ลุกลามไปสู่ระดับรุนแรงได้ 

จากการวิจัยทางคลินิกระยะ ๓ ในผู้ป่วยโรคโควิด-๑๙ ที่แสดงอาการของโรคระดับน้อยถึงปานกลางภายใน ๗ วันของการติดเชื้อ และไม่เคยได้รับยารักษาโควิด-๑๙ ใดๆมาก่อน รวมถึงผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการป่วยหนักหากติดเชื้อ อย่างผู้สูงอายุ น้ำหนักตัวมากหรือมีโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ โรคปอดและภูมิคุ้มกันบกพร่องจากสาเหตุต่างๆ โดยมีผู้เข้าร่วมการวิจัยนี้ ในประเทศต่างๆ มากกว่า ๔,๐๐๐ ราย  ทำให้ยาแอนติบอดี ค็อกเทลเป็นยาต้านไวรัสโควิด-๑๙ ชนิดแรกที่มีผลการทดลองรับรองว่า ช่วยลดอัตราการป่วยหนักขั้นนอนโรงพยาบาลหรือห้องไอซียู หรือเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ ๗๐ ช่วยลดระยะเวลาที่มีอาการป่วยลงได้ถึง ๔ วัน และอาจเป็นทางเลือกที่สำคัญในการรับมือกับการระบาดของสายพันธุ์เดลตาได้อีกด้วย ทั้งนี้จากผลการศึกษาประสิทธิภาพของยาดังกล่าวพบว่าเหมาะสมต่อการใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง ซึ่งในประเทศไทยจะใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและกลุ่มสีเขียวที่มีความเสี่ยงที่จะมีอาการหนักดังกล่าวข้างต้น ผู้ป่วยโรคโควิด-๑๙ ที่ได้รับยาแอนติบอดี ค็อกเทลอาจมีอาการข้างเคียงเช่นเดียวกับที่พบจากการฉีดยาอื่นๆ ได้ เช่นปฏิกิริยาการแพ้แบบรุนแรงและเฉียบพลัน (Anaphylaxis) หรือภาวะภูมิไวเกิน (Hypersensitivity) แต่ก็มีโอกาสน้อยมาก

นอกจากนี้ ผลการทดสอบของสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Institutes of Health) ยังระบุว่ายาแอนติบอดี ค็อกเทลมีความไวต่อไวรัสโควิด-๑๙ สายพันธุ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์เบตา (Beta) อัลฟา (Alpha) แกมมา (Gamma) หรือเดลตา (Delta) แต่ทั้งนี้ยังคงต้องติดตามการทดลองใช้ยาดังกล่าวในมนุษย์ต่อไปว่าจะได้ผลเช่นเดียวกับในห้องทดลองหรือไม่การให้ยา “แอนตีบอดี ค็อกเทล” ใช้วิธีหยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำครั้งเดียว (single intravenous infusion) ประกอบด้วยสารภูมิต้านทานที่พร้อมทำงานยับยั้งการติดเชื้อได้ทันที มีลักษณะการทำงานเช่นเดียวกับ “ภูมิคุ้มกันรับมา” (Passive Immunization) อย่างภูมิคุ้มกันบางชนิดที่ได้รับจากแม่สู่ลูกผ่านทางรกหรือหัวน้ำนมของน้ำนมแม่  ภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากการฉีดเซรุ่มต้านพิษงู (Anti-venom) และการฉีดอิมมูโนโกลบูลิน (Ig) ในคนที่โดนสุนัขกัด

โดยสรุป ยาแอนติบอดี ค็อกเทลเป็นทางเลือกที่มีหลักฐานว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาโรคโควิด-๑๙  ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนแนวทางการรักษาในปัจจุบันและช่วยให้ระบบสาธารณสุขสามารถรับมือกับสถานการณ์ระบาดได้ดียิ่งขึ้น


​​​​​​​อ้างอิง

Taylor, P.C., Adams, A.C., Hufford, M.M. et al. Nat Rev Immunol 21, 382–393 (2021).

Weinreich DM. et al. MedRxIV 2021. doi: https://doi.org/10.1101/2021.05.19.21257469

FDA . Fact sheet for healthcare providers: emergency use authorization (EUA) of REGEN-COV (casirivimab and imdevimab). Revides 6/2021. Available at: https://www.fda.gov/media/145611/download