วัยเกษียณ...เกรียนโซเชียล

๒๔ ก.พ. ๒๕๖๔ | การดู ๕๙ ครั้ง

image widget


image widget

การดำเนินชีวิตในโลกดิจิทัลของผู้สูงวัยก็มีปัญหาเช่นเดียวกับวัยรุ่นและเยาวชน เช่น การแยกแยะว่าข่าวไหนจริงหรือปลอมหรือการใช้เวลากับโทรศัพท์มากเกินไปจนเกิดอาการติดเครื่องมือสื่อสาร แต่ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือการถูกหลอกโดยมิจฉาชีพซึ่งมาในสารพัดรูปแบบ ข้อสังเกตวิธีการหลอกลวงต้มตุ๋นผ่านสื่อดิจิทัลที่ผู้สูงอายุควรระวัง ได้แก่

๑. ฟรี ฟรี ฟรี พึงตระหนักไว้เสมอว่าไม่มีอะไรฟรีในโลก ควรระมัดระวังอีเมล ข้อความหรือข่าวสารที่ล่อลวงด้วยการ “แจกของฟรี” “คูปองลดราคา” หรือ “ต่ออายุสมาชิก” โดยให้คลิกลิงก์ที่แนบมาเพราะอาจเป็นการขโมยข้อมูลส่วนตัว 

๒. เสียต้องซ่อม พวกมิจฉาชีพมักจะโทรเข้ามา ส่งข้อความ หรืออีเมลแจ้งว่ามาจากศูนย์บริการ ขอข้อมูลหรือรหัสส่วนตัวเพื่ออัพเดทฐานข้อมูลที่เคยให้ไว้ เพื่อให้ศูนย์ฯ ตรวจเช็คในระบบให้ว่าบัญชีผู้ใช้งานยังใช้การได้หรือไม่ บางรายอาจจะขอเลขบัญชีธนาคารด้วย

๓. ช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน ไม่ต้องรีบร้อนใจบุญเมื่อได้รับการติดต่อขอความช่วยเหลือให้โอนเงินเข้าบัญชี หรือการประกาศขอรับบริจาคต่างๆ รวมไปถึงการขอข้อมูลส่วนตัวส่วนตัวเพื่อช่วยดำเนินการแทน ควรตรวจสอบก่อนข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้หรือผู้อื่นก่อน 

๔. ชวนลงทุนผลตอบแทนสูง ผู้สูงอายุที่เกษียณอายุแล้ว โดยเฉพาะข้าราชการบำนาญมักได้รับการติดต่อชักชวนให้ลงทุนได้ดอกผลกำไรดี อย่าหลงเชื่อโอนเงินง่ายเพราะอาจเป็นมิจฉาชีพ ต้องขอข้อมูลมาวิเคราะห์และปรึกษาผู้ที่มีความรู้และสมาชิกในครอบครัวก่อนเพื่อรักษาเงินก้อนสุดท้ายที่สะสมมาทั้งชีวิต

๕. ฉันรู้ โลกต้องรู้ อย่ารีบร้อนส่งต่อเมื่อได้รับอีเมล ข้อความหรือข่าวสารที่มีเนื้อหาดัง ๔ ข้อข้างต้น ไปให้ผู้อื่นโดยไม่ตรวจสอบข้อมูลและแหล่งที่มา รวมไปถึงข่าวสารข้อมูลที่บิดเบือน มีลักษณะโฆษณาเกินจริง หรืออาจสร้างความเข้าใจผิด ความตื่นตระหนกหรือเกิดโทษแก่ผู้อื่นและสังคม เพราะการส่งต่อก็เท่ากับตกเป็นเหยื่อและให้การสนับสนุนมิจฉาชีพทางอ้อม