เจ้าหญิงนิทรา…โรคหลับมาราธอน

๑๑ เม.ย. ๒๕๖๕ | การดู ๗๔๕๙ ครั้ง

image widget

โรค Kleine-Levin syndrome (KLS) หรือที่รู้จักกันในนามกลุ่มอาการ “เจ้าหญิงนิทรา” เป็นความผิดปกติที่หายาก นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าพบผู้ป่วยด้วยโรคนี้ ๑-๕ รายจากทุก ๑ ล้านคน และจนถึงปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้

ผู้ที่ป่วยเป็นโรค “เจ้าหญิงนิทรา”  จะมีอาการง่วงนอนอย่างรุนแรง หรือมีปัญหาในการตื่นขึ้นตอนเช้า บางรายอาจนอนหลับนานถึง ๒๐ ชั่วโมงต่อวัน หรือตื่นเป็นครั้งคราวเพื่อรับประทานอาหารหรือเข้าห้องน้ำ ผู้ป่วยหลายรายมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ นานนับสิบปี และมักจะสูญเสียความทรงจำชั่วคราวระหว่างที่หลับใหล โดยพบผู้ป่วยรายหนึ่งในประเทศโคลอมเบียที่ลืมแม้กระทั่งใบหน้าของแม่ตัวเองไปชั่วคราว ระหว่างที่ป่วยด้วยโรคนี้เป็นเวลา ๔๘ วัน

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าปัจจัยบางอย่างสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะ “เจ้าหญิงนิทรา” นี้ได้ เช่นการบาดเจ็บหกล้มและศีรษะกระแทกที่บริเวณไฮโปทาลามัส ซึ่งเป็นส่วนของสมองที่ควบคุมการนอนหลับ ความอยากอาหาร และอุณหภูมิของร่างกาย นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายพัฒนาอาการของโรคนี้หลังจากติดเชื้ออย่างเชื้อไข้หวัดใหญ่ ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่า “โรคเจ้าหญิงนิทรา”  อาจเป็นโรคภูมิต้านตนเองชนิดหนึ่ง ที่เกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายโจมตีเนื้อเยื่อที่แข็งแรง สาเหตุอื่น ๆ ของโรคนี้อาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม โดยสังเกตจากการที่มักมีผู้ป่วยในครอบครัวมากกว่าหนึ่งคน

“โรคเจ้าหญิงนิทรา” เป็นความผิดปกติที่วินิจฉัยได้ยากเนื่องจากอาการคาบเกี่ยวกับอาการทางจิตเวช ทำให้ผู้ป่วยบางรายได้รับการวินิจฉัยผิดพลาดว่าเป็นโรคทางจิตเวช แพทย์จึงจำเป็นต้องทดสอบหลายอย่าง เช่นการตรวจเลือด การศึกษาการนอนหลับและการสแกน CT หรือ MRI ของศีรษะ เพื่อตัดความผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจทำให้มีอาการใกล้เคียงออกไป เช่นโรคเบาหวาน ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism) เนื้องอก การอักเสบ การติดเชื้อ ความผิดปกติของการนอนหลับอื่น ๆ หรือภาวะทางระบบประสาท เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อม นอกจากนี้ อาการง่วงหงาวหาวนอนก็อาจเป็นอาการหนึ่งของภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน แพทย์จึงจำต้องประเมินสุขภาพจิตเพื่อให้สามารถวินิจฉัยได้ว่า อาการเกิดจากภาวะซึมเศร้ารุนแรงหรือความผิดปกติทางอารมณ์อื่น ๆ หรือไม่ โดยแนวทางการรักษานั้นจะต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการรักษาผิดวิธี ซึ่งแพทย์อาจสั่งยาในกลุ่มที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดความตื่นตัวและมีประสิทธิภาพในการลดอาการง่วงนอน รวมไปถึงยาที่รักษาอาการผิดปกติทางอารมณ์

แม้จะมีชื่อว่า “โรคเจ้าหญิงนิทรา”  ตามการ์ตูนของดิสนีย์ แต่ผู้ป่วยร้อยละ ๗๐ กลับเป็นผู้ชายและมักเกิดในช่วงวัยรุ่นมากกว่าวัยอื่น หากลูกของคุณมีอาการปลุกยากหรือขี้เซาเป็นพิเศษ ควรสังเกตความผิดปกติในพฤติกรรมร่วมของ “โรคเจ้าหญิงนิทรา” ด้วย ไม่ว่าจะเป็นอาการเกิดภาพหลอน รู้สึกงุนงงสับสน หงุดหงิดง่าย ทำตัวเหมือนเด็กและอยากอาหารเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีแรงขับทางเพศที่มากผิดปกติที่อาจเป็นผลมาจากการไหลเวียนของเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของสมองลดลง อย่าด่วนสรุปว่าลูกไม่อยากตื่นไปโรงเรียนหรือขี้เกียจ


อ้างอิง

https://www.livescience.com/girl-with-sleeping-beauty-syndrome.html

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5461852/

http://healthysleep.med.harvard.edu/healthy/science/how/neurophysiology