กี่เข็มถึงจะพอ

๒ ธ.ค. ๒๕๖๔ | การดู ๔๖๕๓ ครั้ง

“เราจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นป้องกันโรคโควิด-๑๙ หรือไม่” ไม่ใช่คำถามอีกต่อไป ในสถานการณ์ที่เชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ตลอดเวลาและแนวโน้มการระบาดใหญ่ไม่ได้เบาบางลง แต่เป็น “เราต้องฉีดเข็มกระตุ้นอย่างไรและเมื่อไหร่ เมื่อการฉีดเข็มกระตุ้นเป็นวิธีที่ดีที่สุด ในการป้องกันเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ที่อาจระบาดรุนแรงขึ้นมาอีก และอาจจำเป็นต้องทำซ้ำ อย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันโรค ซึ่งหมายความว่า ๒ โดสแรกคงยังไม่พอและคุณยังฉีดวัคซีนไม่ครบ จนกว่าจะได้รับเข็มที่ ๓ เข็มที่ ๔ เข็มที่ ๕ หรือ ๖ วัคซีนหลายชนิดต้องฉีดอย่างน้อย ๓ เข็ม ก่อนที่จะกระตุ้นกันอีกหลายๆ ปีถัดไป


image widget

แม้จะยังไม่อาจสรุปได้ว่าจำเป็นต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นสำหรับโรคโควิด-๑๙ ไปตลอดหรือไม่ ดร.นพ.แอนโธนี เฟาชี่ (Anthony Fauci) ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ เชื่อว่าข้อมูลอัตราการเสียชีวิต การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตลอดจนระดับความรุนแรงของโรคหลังได้รับวัคซีนในอีก ๘-๑๐ เดือนข้างหน้าจะสามารถตอบคำถามนี้ได้ชัดเจนที่สุด และยืนยันว่าการป้องกันโรคนี้อย่างเต็มรูปแบบจะต้องได้รับวัคซีนถึง ๓ โดส ซึ่งปัจจุบันมีการรณรงค์ให้ฉีดเข็มกระตุ้นในผู้ที่รับวัคซีนปฐมภูมิครบตามระยะเวลาที่เหมาะสมระหว่าง ๓-๖ เดือน


นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่าวัคซีนปฐมภูมิประเภท mRNA ๒ โดสนั้นไม่อาจสร้างภูมิคุ้มกันที่ยืนยาวได้ เนื่องจากฉีดห่างกันเพียง ๓-๔ สัปดาห์ การกระชับช่วงเวลาการฉีดระหว่าง ๒ โดสแรก อาจส่งผลต่อการตอบสนองและการป้องกันของแอนติบอดี  ดร.นพ.ปีเตอร์ โฮเทซ (Peter Hotez) คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งชาติที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์เบย์เลอร์และผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาวัคซีนเด็กเท็กซัสอธิบายว่า เหตุที่ต้องฉีด ๒ เข็มแรกใกล้กันเพราะในช่วงเวลานั้นเป็นภาวะวิกฤตที่ต้องควบคุมการระบาดใหญ่ให้สงบลงเร็วที่สุด เมื่อฉีดใกล้กันมากฤทธิ์ของวัคซีนจึงอยู่ได้ไม่นาน


การกำหนดช่วงเวลาการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้เหมาะสมจึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง การศึกษาพบว่าการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันจะสูงขึ้นและเร็วขึ้นหลังจากฉีดวัคซีน mRNA เข็มที่ ๓ หลังจากได้รับเข็มที่ ๒ แล้ว ๘ เดือน เมื่อเทียบกับการฉีดเข็มที่ ๒ ห่างจากเข็มแรกเพียงไม่กี่สัปดาห์ แต่การคาดการณ์ว่าภูมิคุ้มกันจากวัคซีนจะให้ภูมิยืนยาวเพียงใดยังชี้ชัดได้ยาก เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลในระยะยาวที่เพียงพอ เพราะผู้เข้าร่วมการทดลองทางคลินิกรุ่นแรกสุดก็เพิ่งได้รับวัคซีนโควิด-๑๙ ไปประมาณหนึ่งปีครึ่งเท่านั้น ​​​​​​​​​​​​​​

ยิ่งกว่านั้น การตรวจระดับภูมิ (แอนตีบอดี) ก็ไม่สามารถใช้เป็นหลักในการกำหนดระยะการฉีด หรืออายุของภูมิคุ้มกันในร่างกายของแต่ละคนได้เช่นกัน เนื่องจากวิธีตรวจภูมิที่ใช้กันอยู่ไม่สามารถระบุระดับการป้องกันโรคได้อย่างครอบคลุม เช่นการตรวจแอนติบอดีที่สามารถลบล้างฤทธิ์ของเชื้อ (Neutralizing Antibody) ก็เป็นเพียง ๑ ในอีกหลายองค์ประกอบของระบบภูมิคุ้มกันเท่านั้น  ดร.อะกิโกะ อวาซากิ (Akiko Iwasaki) นักภูมิคุ้มกันวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเยล และสถาบันแพทยศาสตร์โฮเวิร์ดฮิวส์ กล่าวว่าระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์มีการป้องกันหลายชั้น เมื่อร่างการติดเชื้อเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เรียกว่าที เซลล์และบี เซลล์จะทำหน้าที่ตรวจจับและกำจัดเชื้อโรคตลอดจนเซลล์ที่ติดเชื้อซึ่งสามารถคงอยู่ในเลือดได้นานหลายปี และพร้อมที่จะเสริม การป้องกันอื่นๆ ที่มีอยู่ โดยช่วยเซลล์หน่วยความจำในระบบภูมิคุ้มกันให้มีความจำระยะยาว สามารถจดจำหากเชื้อโรคปรากฏหรือเกิดซ้ำ ก็จะรุดไปยังบริเวณที่มีการติดเชื้อและสร้างร่างโคลน เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อโจมตีเชื้อโรค  ซึ่งดร.พอล ออฟฟิต (Paul Offit) ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาวัคซีนแห่งโรงพยาบาลเด็กฟิลาเดลเฟียอธิบายว่า เซลล์หน่วยความจำเหล่านี้ช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ที่ติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ป่วยหนักจนเข้าโรงพยาบาล

ผลการศึกษาของ ศ.ดร.นพ.โจวานนา บอสเซลิโน (Giovanna Borselino) นักอิมมูโนโลหิตวิทยา แห่งมูลนิธิซานต้า ลูเชีย ในกรุงโรมและคณะ สนับสนุนแนวคิดของ ดร.พอล ออฟฟิต โดยติดตามการทำงานของที เซลล์และการตอบสนองของแอนติบอดีต่อโปรตีนส่วนหนามของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ในบุคลากรทางการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ ๗๑ รายที่สุขภาพดีหลังจากได้รับวัคซีน BNT162b2 (Pfizer-BioNTech) เข็มแรกเป็นเวลา ๖ เดือน และพบว่าการฉีดวัคซีนกระตุ้นการตอบสนองของที เซลล์อย่างยั่งยืน งานวิจัยสรุปว่าการได้รับวัคซีนตามเกณฑ์จะทำให้การตอบสนองของเซลล์ภูมิคุ้มกันอยู่นานกว่า ๖ เดือน

การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลไม่อาจปกป้องเราจากการติดเชื้อได้อย่างสมบูรณ์ฉันใด การได้รับวัคซีนโรคโควิด-๑๙ ก็ฉันนั้น การจัดระยะในการฉีดวัคซีนปฐมภูมิและเข็มกระตุ้นภูมิให้เหมาะสมเป็นวิธีการรักษาประสิทธิภาพของวัคซีนได้ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม การรักษามาตรการความปลอดภัยด้วยการใส่หน้ากากอนามัยและรักษาระยะห่างยังคงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ แม้จะได้รับวัคซีนครบ



อ้างอิง

https://jamanetwork.com/journals/jama/fullarticle/2786818?guestAccessKey=c7eeda0e-1cb2-4a8b-a89b-dbe0f060a03a&utm_source=fbpage&utm_medium=social_jama&utm_term=5960222678&utm_campaign=article_alert&linkId=141502329&fbclid=IwAR1iH5pr29My4v9DuggxNfjHTXdjTWgaz0cWVBhouPDQBc4ffcrdc9gxCrQ​​​​​​​