background

ความโปร่งใสของราชวิทยาลัย
จุฬาภรณ์

การสร้างการมีส่วนร่วมกับการขับเคลื่อนการดำเนินงาน

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้กำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นออนไลน์เกี่ยวกับข้อเสนอแนะการดำเนินงาน ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ บนเว็บไซต์ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และเว็บไซต์โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เพื่อนำความเห็นและข้อเสนอแนะมาปรับปรุงคุณภาพการดำเนินงาน  
รายละเอียดรายงาน(คลิก) 

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยศูนย์กระดูกและกล้ามเนื้อ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร่วมกับอนุสาขาเวชศาสตร์การกีฬา และราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย จัดประชุมวิชาการ Sports medicine intensive Day 2023 (SMID 2023) ในหัวข้อ All about the Meniscus All about the Biceps เมื่อวันที่ 16–17 มีนาคม 2566 โดยรองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงชนิสา โชติพานิช รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์บัญชา ชื่นชูจิตต์ ประธานอนุสาขาเวชศาสตร์การกีฬา เปิดงาน โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬาจากสถาบันต่าง ๆ มาร่วมบรรยายให้ความรู้แก่แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ที่เข้าร่วมงานกว่า 150 ท่าน ณ CRA Hall ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

วิทยาศาสตร์การกีฬายังเป็นศาสตร์เพื่อการเรียนรู้และการส่งเสริมคุณภาพและการออกกำลังกายของประชาชนทั่วไปอีกด้วย ทั้งนี้ การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาหรือการออกกำลังกาย ยังคงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาหรือเพิ่มพูนองค์ความรู้ของบุคลากรทางการแพทย์ให้มีความเข้าใจถึงขั้นตอนการประเมินภาวะการบาดเจ็บ การรักษา การฟื้นฟู เพื่อให้ผู้ป่วยใช้เวลาพักฟื้นในระยะสั้น อีกทั้งสามารถกลับไปเล่นกีฬาได้อย่างสมบูรณ์และมีคุณภาพ รวมทั้งยังให้ความรู้แก่ประชาชนถึงการออกกำลังกายอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันภาวะการบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นได้ต่อไป ศูนย์กระดูกและกล้ามเนื้อ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับอนุสาขาเวชศาสตร์การกีฬา ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย จึงได้ร่วมจัดงานประชุมวิชาการ Sports medicine intensive Day 2023 (SMID 2023) ขึ้น เพื่อเป็นการเผยแพร่และทบทวนความรู้วิชาการทางเวชศาสตร์การกีฬา การบาดเจ็บจากการเสื่อมสภาพ รวมถึงการผ่าตัดส่องกล้องข้อไหล่ ข้อเข่า ที่ตั้งอยู่บนหลักฐานเชิงประจักษ์ล่าสุดที่มีคุณภาพและได้รับการยอมรับให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อนำความรู้และทักษะที่ได้ไปใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วย ก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อสังคมและประเทศชาติต่อไป

เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๕ : ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. และหน่วยงานเครือข่ายภาครัฐและภาคเอกชนรวม ๕๒ หน่วยงาน ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือการเชื่อมโยงข้อมูลและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศไทย ภายใต้ระบบ E-Workforce Ecosystem Platform หรือ EWE แพลตฟอร์มอัจฉริยะในการบริหารจัดการข้อมูลด้านกำลังคนและการพัฒนาสมรรถนะ เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทย ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ ชั้น ๓ สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดี-รังสิต กรุงเทพมหานคร


สำหรับการลงนามความร่วมมือในวันนี้ ทั้ง ๕๒ หน่วยงาน มีเจตนารมณ์ร่วมกันในการมุ่งมั่นพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มอัจฉริยะ E-Workforce Ecosystem Platform เพื่อสร้างความร่วมมือในการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนข้อมูลและใช้ประโยชน์ร่วมกันของข้อมูลด้านแรงงานและกำลังคน ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ร่วมกัน เพื่อใช้ในการผลิตและพัฒนากำลังคนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน นำข้อมูลไปใช้ในการกำหนดนโยบาย ทิศทางการพัฒนาแรงงานของประเทศและบริหารจัดการห่วงโซ่อุปสงค์อุปทานให้ไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งใช้ในการพัฒนาสมรรถนะกำลังคนของประเทศทั้งนี้ การพัฒนา E-Workforce Ecosystem Platform ถือเป็นจุดเริ่มต้นการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนให้เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ด้านการพัฒนากำลังคนอยู่บนโครงสร้างเดียวกัน เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนในอาชีพให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงานและความต้องการกำลังคน รวมถึงสามารถใช้ฐานข้อมูลชุดนี้วางแผนกำลังคนให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ อันจะทำให้เกิดการปฏิรูปด้านแรงงานอย่างเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง

เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๕ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับ ๘ สถาบันการศึกษา และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จัดพิธีลงนาม “องค์กรภาคีเครือข่าย ๑๐ สถาบัน เพื่อผลิตบัณฑิตฉุกเฉินการแพทย์ ด้วยการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา” เพื่อผลิตบัณฑิตฉุกเฉินการแพทย์ที่ตอบโจทย์นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ด้วยการพัฒนารูปแบบการศึกษาให้ยืดหยุ่น ให้บุคคลที่ปฏิบัติงานการแพทย์ฉุกเฉินหรือมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่หรือภูมิประเทศที่ไม่มีผู้ปฏิบัติการ หน่วยปฏิบัติการ หรือสถานพยาบาลเพียงพอ ได้มีโอกาสเข้าศึกษาโดยไม่ต้องลาศึกษาหรือเว้นจากการปฏิบัติงานประจำ และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเข้าศึกษาต่างถิ่นที่อยู่ อันจะส่งผลให้มีนักฉุกเฉินการแพทย์ปฏิบัติงานเพิ่มขึ้นในเขตพื้นที่หรือภูมิประเทศที่ไม่มีผู้ปฏิบัติการ หน่วยปฏิบัติการ หรือสถานพยาบาลเพียงพอ และเพื่อสร้างนวัตกรรมการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาในการผลิตบุคลากรสายวิชาชีพด้านสุขภาพที่เป็นสาขาขาดแคลนของประเทศ ซึ่งอาจพัฒนาเป็นเป็นต้นแบบในการผลิตบุคลากรสายวิชาชีพด้านสุขภาพสาขาอื่นได้ในอนาคต

ภายในงานได้รับเกียรติจาก ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นสักขีพยาน พร้อมตัวแทนผู้บริหารสถานศึกษาชั้นนำและสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ รวม ๑๐ สถาบันร่วมลงนามเห็นชอบ ณ โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ หลักสี่ ชั้น ๒ ห้อง Magic 2 กรุงเทพฯ

เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๖๕ พลอากาศตรี นายแพทย์สันติ ศรีเสริมโภค รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ มูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และคุณกฤติมา เบ็ญจวรรณ ผู้จัดการมูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ ในพระอุปถัมภ์ฯ เข้าร่วมงานแถลงข่าวเปิดโครงการ " ปั่นปันสุข หยุดมะเร็ง " สมทบทุนช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งยากไร้ มูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ ในพระอุปถัมภ์ฯ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ซึ่งจัดโดยมูลนิธิยังมีเรา ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนสาธารณกุศล จัดตั้งโดย บริษัท ท็อปนิวส์ ดิจิตัล มีเดีย จำกัด ได้จัดกิจกรรมปั่นจักรยานการกุศลโครงการ “ยังมีเรา ปั่นปันสุข หยุดมะเร็ง” ร่วมกับ ๔ องค์กร ได้แก่ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จํากัด (มหาชน) บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) สมาคมประชาคมคนตาบอดไทย และบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) จัดงานขึ้น เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ และกระตุ้นให้ประชาชน ตระหนักถึงความสำคัญของการคัดกรอง การดูแลสุขภาพ และการเข้ารับการรักษาโรคมะเร็ง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถลดความรุนแรง ลดระยะเวลาการรักษา และลดอัตราผู้เสียชีวิตลงได้ กิจกรรมนี้จัดขึ้นทั้งหมด ๘ สนาม ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมโครงการได้ฟรีแบบไม่มีค่าใช้จ่ายตลอดงาน สมัครผ่านช่องทาง www.topnews.co.th/bike โทรสอบถาม ๐ ๒๑๑๔ ๖๗๗๗ โดยสนามแรกจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๕ ตั้งแต่เวลา ๐๕.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. ณ จังหวัดชลบุรี คณะผู้จัดงานหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมปั่นจักรยานครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการช่วยส่งเสริมด้านการออกกำลังกายเพื่อให้มีสุขภาพดีแล้วยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดด้วย


ทั้งนี้ รายได้จากการบริจาคหลังหักค่าใช้จ่าย คณะผู้จัดงานมอบให้แก่ มูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ ในพระอุปภัมภ์ฯ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นมูลนิธิในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เพื่อช่วยเหลือทางการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยมะเร็งยากไร้ทั่วประเทศ สร้างโอกาสให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน สมดังพระปณิธานขององค์อุปถัมถ์ประธานกรรมการมูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ และองค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

เมื่อวันพุธที่ ๙ มีนาคม ๒๕๖๕   ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และ ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการแพทย์และสุขภาพไปสู่ภาคธุรกิจ ระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิงจิรายุ เอื้อวรากุล รักษาการผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้และวิจัยเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษาเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมด้วย ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ร่วมลงนามเป็นสักขีพยานในพิธี ณ ห้องประชุมใหญ่ MC๒๓๒ ชั้น ๓ อาคารสำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กรุงเทพมหานคร
สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ในครั้งนี้ ทั้งสองหน่วยงานมีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการแพทย์และสุขภาพไปสู่ภาคธุรกิจ โดยจะร่วมกันผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีฯ ที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ พร้อมสู่ตลาดหรือรองรับงานบริการ เพื่อสร้างโอกาสให้กับประเทศ สามารถแข่งขันได้ในเชิงธุรกิจและมีศักยภาพเพิ่มขึ้นในการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต

เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๖๕  ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย บูรณาการความร่วมมือจัดกิจกรรมรณรงค์ต้านภัยมะเร็งปากมดลูกภายใต้โครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ รักครั้งนี้!! อย่าปล่อยให้ไวรัส “เอชพีวี” ลอยนวล ในรูปแบบกิจกรรมเสมือนจริงให้ประชาชนได้ร่วมกิจกรรมรณรงค์ผ่านทางช่อง Youtube CHULABHORN Channel และ Facebook โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิทยา ถิฐาพันธ์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ นายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ณัฐวุฒิ กันตถาวร ผู้ช่วยคณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และหัวหน้าศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขึ้นเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์มะเร็งปากมดลูกในประเทศไทย พร้อมเจาะลึกข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อไวรัสเอชพีวี เนื่องจากโรคมะเร็งปากมดลูกมีสาเหตุหลักมาจากการติดเชื้อเอชพีวี ทั้งนี้ ได้มีการรณรงค์สร้างการตระหนักรู้มาอย่างต่อเนื่องทุกปีและในปีนี้ได้เพิ่มกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญอีกกลุ่มที่จะช่วยลดโอกาสในการแพร่เชื้อเอชพีวี คือ การรณรงค์ป้องกันในกลุ่มผู้ชาย เพราะการมีเพศสัมพันธ์คือสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อ HPV ดังนั้น การจะขจัดโรคมะเร็งปากมดลูกให้หมดไป รวมทั้งลดเสี่ยงมะเร็งอื่นๆ อาทิมะเร็งช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก มะเร็งช่องปากและลำคอ จึงได้ตอกย้ำสารรณรงค์ไม่ว่าคุณจะมีความรักในรูปแบบไหนทั้งผู้หญิงและผู้ชายอย่าปล่อยให้เชื้อไวรัสเอชพีวีลอยนวล ด้วยหลักการง่ายๆ ๓ วิธี คือ หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยง ตรวจคัดกรองเมื่อถึงเวลา และเข้ารับวัคซีนเอชพีวี วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่ผู้ชายก็ต้องฉีด เพื่อป้องกันโรคให้ตัวเอง และป้องกันการเป็นพาหะให้ผู้หญิง โดยอยากให้ทุกคนทุกเพศทุกวัยได้ออกมาร่วมแสดงพลัง #หยุดเชื้อHPVเพื่อฟินรัก ในแคมเปญนี้ด้วยกัน ซึ่งในปีนี้มีหนุ่มมิว-ศุภศิษฏ์ จงชีวีวัฒน์ ศิลปินนักแสดงสุดปังตัวแทนคนรุ่นใหม่ และ ได๋-ไดอาน่า จงจินตนาการ มาร่วมรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน พร้อมทั้งร่วมกิจกรรม หยุดเชื้อHPVเพื่อฟินรัก กิจกรรมสุดพิเศษที่จัดขึ้นเพื่อมอบเป็นของขวัญให้กับแฟนๆ ที่จองเข้ารับวัคซีนเอชพีวีในวันงานได้มาร่วมเปิดประสบการณ์แสดงพลังหยุดเชื้อ HPV และร่วมฟินกับหนุ่มมิวตัวจริง ณ ศูนย์บริการฉีดวัคซีนราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยแคมเปญนี้ยังขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมกิจกรรมรณรงค์ HPV Challenge ด้วยการสร้าง Content วิดีโอสั้นบนแพลตฟอร์ม TikTok หรือ Instagram ด้วยท่าเต้น ๔ ท่าง่ายๆ ได้แก่

๑. ท่าหัวใจ-สื่อถึงความรักในรูปแบบต่างๆ

๒. ท่าปิดหน้า-สื่อถึงเชื้อเอชพีวีไม่เลือกหน้าที่ทุกคนอาจมีเชื้ออยู่โดยไม่รู้ตัว

๓. ท่าฉีด-สื่อถึงการหยุดเชื้อโดยเข้ารับวัคซีนเอชพีวีเพื่อป้องกัน

๔. ท่ากอด-สื่อถึงการฟินรักกันอย่างปลอดภัย สามารถร่วมสนุกกับกิจกรรม HPV Challenge

ในแคมเปญ “รักครั้งนี้อย่าปล่อยให้ไวรัสเอพีวีลอยนวล” ที่ขอชวนคุณมาร่วมเต้นรณรงค์หยุดเชื้อเอชพีวีเพื่อฟินรัก ป้องกันมะเร็งปากมดลูกเพื่อตัวคุณเองและคนที่คุณรัก พร้อมติดแฮชแทค #หยุดเชื้อHPVเพื่อฟินรัก #HPVไม่เลือกหน้า #วัคซีนHPV เพื่อส่งต่อเรื่องราวดีๆ ในการให้ความรู้เกี่ยวกับHPV ผ่านมุมมองของคุณเอง นอกจากนี้ ภายในงานยังมีบูธผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ฯ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมสานหัวใจแบ่งปันสร้างสรรค์สุขภาพดีเพื่อสังคมไทยผ่านการร่วมบริจาค และเลือกรับผลิตภัณฑ์การกุศลลาย “เสือ” รายได้สมทบกองทุนสร้างภูมิสู้ภัยโควิด-๑๙เพื่อนำไปจัดซื้อวัคซีน ยา และเวชภัณฑ์เพื่อผู้ด้อยโอกาสต่อไป 

เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับ กองทัพบก โดยมณฑลทหารบกที่ ๑๑ การประปานครหลวง กรุงเทพมหานคร กรมธนารักษ์ และ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมด้วยพลตรี สราวุธ ไชยสิทธิ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๑๑ นายกวี อารีกุล ผู้ว่าการการประปานครหลวง นายศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ และนายนาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการก่อสร้างถนนต่อเชื่อมศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ กับถนนประชาชื่น (ถนนหมายเลข ๑๐) ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ ๖ ชั้น ๕ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร

สำหรับโครงการก่อสร้างถนนต่อเชื่อมศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ กับถนนประชาชื่น (ถนนหมายเลข ๑๐) เกิดจากความร่วมมือระหว่าง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับกองทัพบก โดยมณฑลทหารบกที่ ๑๑ การประปานครหลวง กรุงเทพมหานคร กรมธนารักษ์ และ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด เพื่อรองรับการจราจรของโครงการพัฒนาพื้นที่ส่วนขยายศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ และศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ส่วนขยายขนาด ๔๐๐ เตียง เป็นการเพิ่มเส้นทางด้านตะวันตกของศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ โดยปัจจุบันเส้นทางที่ใช้สัญจร มี ๒ เส้นทาง คือ ทิศเหนือเป็นเส้นทางเชื่อมสู่ถนนแจ้งวัฒนะ และทางทิศตะวันออกเป็นเส้นทางถนนหมายเลข ๘ มุ่งสู่ถนนวิภาวดีรังสิต ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างถนนหมายเลข ๑๐ จะเชื่อมต่อจากศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะฯ ไปทางด้านทิศตะวันตกบรรจบกับถนนประชาชื่น (ถนนหมายเลข ๑๑) โดยคาดว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรบนถนนแจ้งวัฒนะ และเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไปที่ใช้สัญจรไปมา รวมถึงอำนวยความสะดวกให้กับผู้รับบริการของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ในการใช้เป็นเส้นทางเข้ารับบริการด้านการแพทย์ ณ ศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขนาด ๔๐๐ เตียงที่มีแผนจะเปิดให้บริการในช่วงปลายปี ๒๕๖๕ นี้ รวมถึงเพื่อการติดต่อราชการในศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะด้วย

ลักษณะรูปแบบโครงการฯ จะเป็นการก่อสร้างถนน คสล. ขนาด ๒ ช่องจราจร สะพานข้ามคลองประปา สะพานข้ามคลองบางตลาด มีระบบระบายน้ำ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบการจราจรสงเคราะห์ โดยมีจุดเริ่มต้นจากถนนประชาชื่น ข้ามคลองประปา ผ่านพื้นที่ของมณฑลทหารบกที่ ๑๑ และพื้นที่ของการประปานครหลวง ข้ามคลองบางตลาด และจุดสิ้นสุดโครงการเชื่อมต่อกับถนนภายในศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ และ“ศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์” โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ระยะทางรวมทั้งโครงการประมาณ ๑.๓๐ กิโลเมตร โดยใช้งบประมาณการก่อสร้างมูลค่ารวม ๓๒๐ ล้านบาท และมีกำหนดการก่อสร้างปลายปี ๒๕๖๔ คาดว่าจะแล้วเสร็จตามสัญญาพร้อมเปิดให้ประชาชนได้ใช้งานประมาณเดือนมิถุนายน ปี ๒๕๖๖ รวมระยะเวลา ๕๔๐ วัน

ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ก่อตั้งขึ้นจากพระปณิธานและพระวิสัยทัศน์ใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อให้เป็นสถาบันในด้านวิทยาศาสตร์ การจัดการศึกษา การค้นคว้าวิจัย และการบริการทางการแพทย์ ทรงมีพระดำริให้พัฒนาต่อยอด “โรงพยาบาลจุฬาภรณ์” จากโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านโรคมะเร็งสู่สถาบันการแพทย์ที่ให้บริการครอบคลุมการรักษาทุกโรค ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จัดสร้าง ศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ส่วนต่อขยายขนาด ๔๐๐ เตียง เพื่อให้บริการด้านสุขภาพและดูแลรักษาประชาชนอย่างครบวงจร รวมทั้งเป็นอาคารการเรียนการสอนของวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน และวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ในโครงการเฉลิมพระเกียรติ ๙๐ ปี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และสืบสานแนวพระราชดำริที่ทรงมุ่งหวังให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ได้มาตรฐาน โดยอาคารดังกล่าว ตั้งอยู่ในพื้นที่ของศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะฯ มีกำหนดแล้วเสร็จและพร้อมเปิดให้บริการในปี ๒๕๖๕

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ปานเทพ รัตนากร คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์และสัตววิทยาประยุกต์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ร่วมกับ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดย นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย และ นายยงชัย อุตระ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์และวิจัย ร่วมในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือผ่านระบบออนไลน์ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิชาการอันเกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ โภชนาการ และสวัสดิภาพของสัตว์ในสวนสัตว์ โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ พฤติกรรมวิทยา เทคโนโลยีชีวภาพด้านการสืบพันธุ์และด้านพันธุกรรม การอนุรักษ์สัตว์ป่านอกถิ่นอาศัย รวมทั้งสนับสนุนการจัดการศึกษาสาขาสัตวแพทยศาสตร์และสัตววิทยาประยุกต์ แลกเปลี่ยนการสร้างองค์ความรู้ด้านการวิจัย ด้านวิชาการ ให้มีความรู้ความสามารถในการศึกษาและการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ป่าและการอนุรักษ์ ทั้งระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา ภายใต้โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์สุขภาพหนึ่งเดียว วิทยาเขตเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์พนารักษ์ ปากช่อง และโรงพยาบาลสัตว์ศรีสวางควัฒน ตามพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวาควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ : ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ นารถธนะรุ่ง ผู้อำนวยการศูนย์จำลองสถานการณ์ เพื่อการเรียนรู้ ร่วมกับ บริษัท ล็อกซ์เล่ย์ ซิมูเลชั่น เทคโนโลยี จำกัด โดย ดร.ชิงชัย หาญเจนลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร พร้อมด้วย คุณพัชฌา ชุติมา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ เพื่อร่วมกันหาแนวทางการดำเนินงาน ส่งเสริม สนับสนุน และประสานความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านการพัฒนางานวิจัย การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี ความร่วมมือในด้านการศึกษาและการจัดการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้อง ทางด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยผ่านระบบจำลองสถานการณ์เสมือนจริงด้วยระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยและได้มาตรฐานสากล ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และประชาชน ณ ห้องประชุมผู้บริหาร ชั้น ๓ อาคารบริหาร ๒ สำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๔  ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมด้วย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ,พลอากาศตรี นายแพทย์สันติ ศรีเสริมโภค รองเลขาธิการราชจุฬาภรณ์,นายแพทย์ภูมินทร์ ศิลาพันธ์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ , นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และ นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กับกระทรวงมหาดไทย ณ ห้องประชุมผู้บริหาร ชั้น ๓ อาคารบริหาร ๒ สำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

โดยพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ มีกรอบแนวทางความร่วมมือเพื่อส่งเสริม สนับสนุน และประสานความร่วมมือระหว่างทั้งสองหน่วยงาน ด้านการวิจัยและการพัฒนาโครงการวิจัยต่าง ๆ ด้านการศึกษาฝึกอบรมทางการแพทย์และการสาธารณสุข อาทิ การร่วมฝึกอบรมทางการแพทย์เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรของหน่วยงาน การจัดชุดแพทย์เพื่อปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติร่วมกัน ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโนยีและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน จากเหตุการณ์ต่างๆ เช่น ภัยแล้ง ภัยหนาวหรืออุทกภัย เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อสนองพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ทรงมุ่งหวังให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ได้มาตรฐาน โดยมีราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่เป็นศูนย์กลางการเรียนการสอน การวิจัย เพื่อสร้างและพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์ สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม มุ่งสร้างประโยชน์ให้ส่วนรวมก่อนคิดถึงประโยชน์ส่วนตน อีกทั้งเป็นสถาบันที่ให้บริการทางการแพทย์ด้วยมาตรฐานสากล ซึ่งนับเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขของประเทศให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไปในอนาคต

เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ : ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมด้วยนายแพทย์รายิน อโรร่า รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์, รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มารุต ตั้งวัฒนาชุลีพร คณบดีคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กับ คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา โดยมีกรอบแนวทางความร่วมมือทางวิชาการ การบริการ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางด้านวิจัย เพื่อพัฒนาศักยภาพของนิสิต คณาจารย์ และบุคลากรทางการแพทย์ของทั้งสองหน่วยงาน ให้มีทักษะความรู้ และความเชี่ยวชาญด้านวิชาชีพเพิ่มขึ้น อันจะนำไปสู่การพัฒนาระบบและกลไกในการผลิตบัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่มีประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการของประเทศ สนองตามพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่ทรงมุ่งหวังให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ได้มาตรฐาน อันจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขของประเทศให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไปในอนาคต

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับ สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย และศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จัดงานแถลงข่าวในหัวข้อ “การรับมือต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในปัจจุบันและอนาคต” โดยได้รับเกียรติจาก ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย และ ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย มาร่วมอภิปรายเพื่อแสดงวิสัยทัศน์และความร่วมมือระหว่างคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมวิชาชีพและสถาบันทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ต่อการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในประเทศไทย โดยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในครั้งนี้จะมีส่วนช่วยลดภาระงานของแพทย์ด่านหน้า ที่กำลังทำงานอย่างหนัก ลดจำนวนผู้ป่วยอาการรุนแรงซึ่งต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และลดตัวเลขผู้เสียชีวิตในประเทศลงได้
ศ. นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงพันธกิจที่จะยับยั้งความรุนแรงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “ความุ่งมั่นของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไม่ได้หยุดอยู่เพียงการให้คำแนะนำด้านการปฏิบัติตัวแก่ประชาชนเพื่อลดการระบาดเท่านั้น แต่ยังเพิ่มกลยุทธ์การป้องกันการติดเชื้อเชิงรุกด้วยการเร่งจัดสรรและกระจายวัคซีนให้แก่ประชาชนโดยเร็ว แต่ด้วยการแพร่ระบาดที่ลุกลามไปอย่างรวดเร็ว จนก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวัน เศรษฐกิจ สังคม และจิตวิญญาณจากความวิตกกังวลและความสูญเสียที่เกิดขึ้น ทำให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ต้องเร่งแสวงหาแนวทางให้ความช่วยเหลือแก่บุคลากรทางการแพทย์และบริหารจัดการทรัพยากรให้เพียงพอกับความต้องการในภาวะผู้ป่วยโควิด-19 ล้นระบบสาธารณสุข เช่น ลดแนวโน้มในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ลดจำนวนผู้ป่วยอาการรุนแรงที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและออกซิเจนเสริม รวมไปถึงลดจำนวนผู้เสียชีวิตลง เพื่อช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ไม่ต้องแบกรับภาระหนักเกินไป ตลอดจนช่วยให้ระบบดูแลสุขภาพของประเทศไทยกลับฟื้นตัวสู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุด ในฐานะที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นหนึ่งในห้าหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าวัคซีนโควิด-19 ตามประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ให้สามารถนำเข้าและกระจายเวชภัณฑ์เพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉินได้ จึงเล็งเห็นว่ายา ‘โมโนโคลนอล แอนติบอดี’ ซึ่งเป็นยาในกลุ่มภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ มีผลการวิจัยทางคลินิกระยะที่ 3 และข้อมูลการใช้จริงในประเทศสหรัฐอเมริกา บ่งชี้ว่าช่วยลดโอกาสที่โรคจะลุกลามไปสู่ระดับรุนแรง ลดแนวโน้มการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และมีส่วนช่วยลดอัตราการเสียชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยโควิด-19 ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น สูงอายุ มีภาวะอ้วน และเป็นโรคเรื้อรัง ดังนั้น ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการนำเข้า จัดสรร และกระจายยาดังกล่าว ให้ถึงมือผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางให้ได้มากที่สุดอย่างทันท่วงที รวมถึงกําหนดราคาให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในทุกสถานพยาบาลฯ

การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเลือกการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละกลุ่มจึงเป็นกลไกสำคัญที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สมาคมวิชาชีพ และสถาบันทางการแพทย์ต่างๆ เล็งเห็นแล้วว่าเป็นแนวทางการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบันและอนาคตได้ โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ยังมีโครงการศีกษาวิจัยผลิตภัณฑ์ยารักษาโควิด-19 ในกลุ่มภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ หรือ ยาโมโนโคลนอล แอนติบอดี ในผู้ป่วยที่มีอาการและปัจจัยเสี่ยงสอดคล้องกับคำแนะนำการใช้ยา เพื่อติดตามผลลัพธ์การรักษาอย่างใกล้ชิดเและประเมินความเหมาะสมต่อไป

เมื่อวันที 28 กันยายน 2564 ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ปานเทพ รัตนากร ผู้ช่วยเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายพัฒนาวิทยาเขตและการสัตวแพทย์ ลงนามบันทึกความร่วมมือผ่านระบบออนไลน์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ กรมประมง เพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษาสาขาสัตวแพทยศาสตร์และสัตววิทยาประยุกต์ แลกเปลี่ยนการสร้างองค์ความรู้ด้านการวิจัย ด้านวิชาการ และห้องปฏิบัติการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับชาติและนานาชาติ รวมทั้งพัฒนาบุคลากรและนักศึกษาให้มีศักยภาพและความเข้มแข็งทางวิชาการให้เป็นที่ยอมรับในระดับชาติและสากล

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ลงนามประกาศความร่วมมือกับ แซดพี เทอราพิวติกส์ (ZP Therapeutics) หน่วยธุรกิจภายใต้ ซิลลิค ฟาร์มา ผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพชั้นนำในเอเชีย ในการจัดหาและกระจายวัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นา (Covid-19 Vaccine Moderna) จำนวน 8 ล้านโดส (100 ไมโครกรัม/โดส) สำหรับการใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับประชาชนในปี 2565 ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและได้รับวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 ได้โดยเร็วที่สุด ผ่านการนำเข้า จัดสรร และกระจายวัคซีนตัวเลือกไปสู่กลุ่มองค์กรนิติบุคคล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานพยาบาลเพื่อกระจายฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่ รวมถึงกลุ่มเปราะบางและผู้ด้อยโอกาสทั่วทุกภูมิภาค นอกจากนี้ ยังได้มุ่งเน้นด้านการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยอย่างเป็นระบบ

สำหรับความร่วมมือกับ ซิลลิค ฟาร์มา เป็นภารกิจที่สำคัญและความมุ่งมั่นในการสนับสนุนการกระจายวัคซีนให้เป็นไปอย่างทั่วถึง เพื่อช่วยให้ประชาชนได้รับวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้เร็วที่สุด และขับเคลื่อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการให้บริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพแก่ประชาชนทุกกลุ่มวัยอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อประเทศชาติ 

เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔  ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แถลงข่าวบูรณาการความร่วมมือนำเข้าวัคซีนโควิดทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และพลอากาศตรี นายแพทย์สันติ ศรีเสริมโภค รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมแถลงข่าว ณ ห้อง CAT Auditorium อาคารสโมสร ชั้น ๒ อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ถนนแจ้งวัฒนะ

ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ. ๒๕๕๙ และขึ้นตรงกับท่านนายกรัฐมนตรี ได้เล็งเห็นความสำคัญในการบริหารจัดการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคที่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนแบบบูรณาการ เพื่อให้การควบคุมและยับยั้งการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด -19 ในประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยก่อนหน้านี้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีให้เป็นตัวแทนของรัฐบาลประเทศไทยในการจัดหาและนำเข้าวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงและได้รับวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันได้เร็วที่สุดซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อประเทศชาติ

สำหรับความร่วมมือการนำเข้าวัคซีนโควิดทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” ระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริม สนับสนุน และประสานความร่วมมือเพื่อให้การกระจายวัคซีนในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นไปอย่างทั่วถึง โดย ณ ขณะนี้วัคซีน “ซิโนฟาร์ม” ซึ่งเป็นวัคซีนที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้การรับรองแล้ว และนายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้แจ้งว่า บริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ได้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนวัคซีน “ซิโนฟาร์ม” กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และได้ผ่านการอนุมัติแล้ววันนี้ (๒๘ พ.ค. ๖๔) โดยถือเป็นวัคซีนตัวที่ ๕ ที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หลังจากนี้ ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะดำเนินการนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์ม โดยภายในเดือนมิถุนายนนี้ จะนำเข้ามาได้จำนวน ๑ ล้านโดส และจะบริหารจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์มให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่สนใจจะจัดซื้อในอัตราที่รวมราคาต้นทุนยา ค่าขนส่ง พร้อมค่าประกันวัคซีน โดยจะกำหนดราคาขายราคาเดียวกันทั่วประเทศต่อไป

วัคซีนซิโนฟาร์ม (Sinopharm) มีชื่อทางการว่า “BBIBP-CorV” เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccine) เช่นเดียวกับ ซิโนแวค และ โควาซิน เป็นวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลก (WHO) สามารถฉีดได้ตั้งแต่กลุ่มผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไปจนถึงผู้สูงอายุโดยไม่มีข้อบ่งชี้ที่จำกัดเรื่องอายุ 'ซิโนฟาร์ม' ถูกนำมาใช้กว่า 65 ล้านโดส ในประเทศจีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปากีสถาน ฮังการี และเป็นวัคซีนชนิดแรกที่พัฒนาโดยประเทศที่ไม่ใช่ชาติตะวันตก ที่ได้รับการรับรองให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินจาก WHO เป็นรายที่ ๖

ในส่วนของภารกิจการจัดหาวัคซีนทางเลือกในสถานการณ์การแพร่ระบาดฉุกเฉินนี้ อยู่ภายใต้กรอบกฎหมายตามพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ไม่ได้มีการเพิ่มอำนาจจนเกินกว่ากฎหมายเดิมแต่อย่างใด และการผลิตนำเข้ารวมทั้งการให้อนุญาตเรื่องเวชภัณฑ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉินนี้ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขแก่ประชาชน ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือ ผู้ยากไร้ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ตามพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และเมื่อวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยสามารถผลิตและใช้ได้อย่างเพียงพอ ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ก็จะค่อยๆ ลดบทบาทในการจัดสรรปริมาณวัคซีนตัวเลือกนี้ลง เช่นเดียวกับ ยา และเวชภัณฑ์อื่นๆที่สามารถผลิตได้ในประเทศเช่นกัน

อนึ่ง สำหรับความร่วมมือระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กับกระทรวงสาธารณสุข และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการนำเข้าวัคซีนทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” เป็นการทำงานคู่ขนานกันเพื่อช่วยเหลือให้การกระจายวัคซีนเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น และช่วยเสริมสร้างความมั่นคงในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง สร้างมาตรฐานความปลอดภัย และเพิ่มขีดความสามารถที่จะช่วยเหลือให้ประชาชนทุกระดับได้กลับไปดำเนินชีวิตวิถีใหม่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔  ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการแพทย์ สาธารณสุข วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพ (Health Security) ของประเทศไทย ระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยมีพลอากาศตรี นายแพทย์สันติ ศรีเสริมโภค รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมด้วย นางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล ร่วมลงนามเป็นสักขีพยานในพิธี ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น ๓ อาคารบริหาร ๒ สำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้เล็งเห็นความสำคัญในการบริหารจัดการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคที่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนแบบบูรณาการ เพื่อให้การควบคุมและยับยั้งการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ในประเทศไทยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการให้บริการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ประสานงานให้ความช่วยเหลือ รวมถึงให้บริการฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาด พร้อมทั้งได้รับมอบหมายในการประสานหาความร่วมมือด้านต่างๆ เพื่อให้การบริหารจัดการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด รวมถึงได้รับความเห็นชอบให้เป็นตัวแทนของรัฐบาลประเทศไทยในการจัดหาและนำเข้าวัคซีนเพื่อเพิ่มเป็นทางเลือกให้ประชาชนร่วมกับการบริหารจัดการวัคซีนซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อประเทศชาติและสุขอนามัยของประชาชนมากยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการศึกษาวิจัยประสิทธิภาพตลอดจนผลข้างเคียงของวัคซีนต่างๆที่นำเข้ามาใช้ในประเทศไทย อีกทั้งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องด้วยการดำเนินการประสานงานให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน ทั้งในและต่างประเทศในการกระจายวัคซีนต่างๆให้ได้ในทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง

อนึ่ง สำหรับการลงนามความร่วมมือระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริม สนับสนุน และประสานความร่วมมือด้าน การแพทย์ สาธารณสุข วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อการพัฒนาเรื่องความมั่นคงด้านสุขภาพของประเทศ ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือในการกระจายวัคซีนให้กับประชากรในภาคอุตสาหกรรมและภาคการบริการ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง สร้างมาตรฐานความปลอดภัย และเพิ่มขีดความสามารถที่จะช่วยเหลือให้ประชาชนทุกระดับได้กลับไปดำเนินชีวิตวิถีใหม่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมด้วยนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาด้านการแพทย์ การสาธารณสุข และอุทยานวิทยาศาสตร์สุขภาพหนึ่งเดียว เพื่อยกระดับมาตรฐานพัฒนาความมั่นคงด้านสุขภาพ (Health Security) ของประเทศ ระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 3 อาคารบริหาร 2 สำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กรุงเทพมหานคร

ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้เล็งเห็นความสำคัญในการบริหารจัดการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคที่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนแบบบูรณาการ เพื่อให้การควบคุมและยับยั้งการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงได้รับความเห็นชอบให้เป็นตัวแทนของรัฐบาล/ประเทศไทยในการจัดหาและนำเข้าวัคซีนเพื่อเพิ่มเป็นทางเลือกให้ประชาชนร่วมกับการบริหารจัดการวัคซีนซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อประเทศชาติและสุขอนามัยของประชาชนมากยิ่งขึ้น และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการศึกษาวิจัยประสิทธิภาพตลอดจนผลข้างเคียงของวัคซีนต่างๆที่นำเข้ามาใช้ในประเทศไทย อีกทั้งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องด้วยการดำเนินการประสานงานให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน ทั้งในและต่างประเทศในการกระจายวัคซีนต่างๆให้ได้ในทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง

การลงนามความร่วมมือระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริม สนับสนุน และประสานความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา ด้านการศึกษาและฝึกอบรมด้านการแพทย์และการสาธารณสุข การดูแลสุขภาพ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านสิ่งแวดล้อมรวมทั้งเพื่อเป็นการสนับสนุนการจัดตั้งโครงการศูนย์การแพทย์ ศูนย์วิจัย และอุทยานวิทยาศาสตร์สุขภาพหนึ่งเดียว (One Health Science Park) ตามพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อการพัฒนาเรื่องความมั่นคงด้านสุขภาพของประเทศ

ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือในการกระจายวัคซีนให้กับประชากรในภาคอุตสาหกรรมและภาคการบริการ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง สร้างมาตรฐานความปลอดภัย และเพิ่มขีดความสามารถที่จะช่วยเหลือให้ประชาชนทุกระดับได้กลับไปดำเนินชีวิตวิถีใหม่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๔  ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โปรดให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สนับสนุนความร่วมมือกับ กองทัพอากาศ ในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม กองทัพอากาศ ดอนเมืองขึ้น ที่อาคารฝึกและทดสอบสมรรถภาพกองทัพอากาศ ๒ สนามกีฬาจันทรุเบกษา กองทัพอากาศ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร

โดยมี พลอากาศตรี นายแพทย์สันติ ศรีเสริมโภค รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมด้วย พลอากาศเอก แอร์บูล สุทธิวรรณ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และคณะ เข้าร่วมในพิธีเปิด ทั้งนี้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงห่วงใยและมีพระดำริที่จะช่วยเหลือแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ในการต่อสู้กับสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-๑๙ โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้การสนับสนุนอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อใช้รองรับการดูแลผู้ป่วยโควิด-๑๙ ได้แก่ เตียงสนามกระดาษเอสซีจีพี (SCGP Paper Field Hospital Bed) ซึ่งเป็นนวัตกรรมเอสซีจี เพื่อช่วยเหลือสังคมในภาวะเร่งด่วน พร้อมชุดเครื่องนอน พัดลมตั้งโต๊ะ ปรอทวัดไข้ดิจิทัล เครื่องวัดความดันโลหิตแบบรัดที่ข้อมือ เครื่องวัดออกซิเจนแบบสวมปลายนิ้วขนาดเล็ก เพื่อให้พร้อมเปิดใช้งานได้ในวันศุกร์ที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๔

ในการดำเนินงานจัดตั้งโรงพยาบาลสนามกองทัพอากาศ (ดอนเมือง)กองทัพอากาศ โดยโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์คำนึงถึงความปลอดภัยและความเหมาะสมสูงสุด เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการและสามารถดูแลตัวเองได้ ซึ่งสามารถรองรับผู้ติดเชื้อทั้งประชาชนและกำลังพลของกองทัพอากาศได้ จำนวน ๑๒๐ เตียง มีการแบ่งโซนการเฝ้าระวังของผู้ป่วยชาย ที่ชั้น ๑ ล่าง จำนวน ๗๐ เตียง และโซนการเฝ้าระวังของผู้ป่วยหญิง ที่ชั้น ๒ จำนวน ๕๐ เตียง อีกทั้ง ยังมีเตียงสำรอง จำนวน ๓๐ เตียง รวมทั้งหมด ๑๕๐ เตียง พร้อมทั้งมีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ดูแลตลอด ๒๔ ชั่วโมง การรักษาความปลอดภัยภายในอาคารด้วย CCTV รอบอาคาร ๒๒ จุด และเจ้าหน้าที่สารวัตรทหารอากาศ ดูแลรักษาความปลอดภัยภายนอกอาคาร นอกจากนี้ ได้นำน้องถาดหลุม หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของโรงเรียนนายเรือมาใช้ในการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ด้วย

  เมื่อวันจันทร์ที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๔ พลอากาศตรี นายแพทย์สันติ ศรีเสริมโภค รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมด้วย ผศ.นพ.ครรชิต ลิขิตธนสมบัติ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ รศ.นพ.ปรีดา วาณิชยเศรษฐกุล หัวหน้าสายการแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เข้าร่วมประชุมหารือร่วมกับ ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทยและกรรมการการยาสูบแห่งประเทศไทย หารือความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ในการร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาและประสานความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ณ โรงพยาบาลสวนเบญจกิติ เฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา

  เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๔ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.)และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการกิจกรรมเผยแพร่องค์ความรู้ด้านศิลปะร่วมสมัยสู่ชุมชน ภายใต้โครงการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เนื่องในโอกาสถวายพระสมัญญา “สิริศิลปิน” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อวงการศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และเผยแพร่พระอัจฉริยภาพพระปรีชาสามารถที่เป็นเลิศในการสร้างสรรค์งานศิลปะหลากหลายสาขา ทั้งงานทัศนศิลป์ วรรณศิลป์ ดนตรี และงานออกแบบให้เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า ด้วยทรงเป็นเจ้าฟ้าพระองค์แรกในประวัติศาสตร์ของพระราชวงศ์ไทยที่ทรงสำเร็จการศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยพระองค์เอง และทรงใช้พระอัจฉริยภาพในมิติของศิลปะในการส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โอกาสนี้ รัฐบาลโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย จึงได้บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรเครือข่าย ในการจัดกิจกรรมเผยแพร่องค์ความรู้ด้านศิลปะร่วมสมัยสู่ชุมชน ตลอดจนส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงานที่ได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานศิลปะใน สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี แก่เยาวชนและผู้สนใจด้านศิลปะร่วมสมัยในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฏาคม ๒๕๖๔ นี้ ซึ่งตรงกับการจัดงานมหกรรมศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติ ครั้งที่ ๒ อันเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่ประเทศไทยและนานาประเทศทั่วโลกที่มีพระบรมวงศานุวงศ์เป็นองค์ศิลปินที่มีผลงานศิลปะหลากหลายสาขา และใช้ผลงานศิลปะเหล่านั้นเพื่อช่วยเหลือประชาชน

  อนึ่ง สำหรับการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการกิจกรรมเผยแพร่องค์ความรู้ด้านศิลปะร่วมสมัยสู่ชุมชน ได้ใช้สถานที่หอศิลป์พิมานทิพย์สถานที่รวบรวมพระอัจฉริยภาพด้านศิลปะขององค์สิริศิลปินในการจัดประชุมครั้งนี้ ซึ่งมีคณะอนุกรรมการจัดกิจกรรมเผยแพร่องค์ความรู้ด้านศิลปะร่วมสมัยสู่ชุมชนที่แต่งตั้งโดยกระทรวงวัฒนธรรม และคณะทำงานจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ประกอบด้วย ผู้แทนคณาจารย์จากสาขาวิชาทัศนศิลป์ สาขาวิชาศิลปศึกษา สาขาวิชาดนตรี สาขาวิชาภาษาไทย สาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ และสาขาวิชานาฏศิลป์ไทย รวมทั้งคณาจารย์ และบุคลากรที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ และร่วมรับฟังการบรรยายจากวิทยากรกิตติมศักดิ์ ผู้ถวายการสอน ระหว่างที่ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฏีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้แก่ อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๗ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) รศ.วิรัญญา ดวงรัตน์ อาจารย์ประจำคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นอกจากนี้ยังมี อาจารย์นิมิตร พิพิธกุล ศิลปินศิลปาธร ปีพุทธศักราช ๒๕๕๐ และอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายท่านที่มาร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้ด้านศิลปะทั้ง ๔ สาขา ประกอบด้วย สาขาทัศนศิลป์ สาขาดนตรี สาขาวรรณศิลป์ และสาขาการออกแบบ โดยบรรยายความหมาย แรงบันดาลพระทัยในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะต่างๆ ที่สะท้อนถึงพระอัจฉริยภาพขององค์ “สิริศิลปิน” ที่จัดแสดงอยู่ภายในหอศิลป์พิมานทิพย์แห่งนี้ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนและเสริมสร้างความรู้ประสบการณ์ เพื่อเป็นข้อมูลนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมเผยแพร่องค์ความรู้สู่ชุมชนกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นนักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจด้านศิลปะร่วมสมัยในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา รวมกว่า ๒๐๐ คนต่อไป

เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2562 พิธีลงนามความร่วมมือเพื่อการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิตระหว่าง วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ โดยศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิงจิรายุ เอื้อวรากุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และรองอธิการบดีฯ ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม กับ โรงพยาบาลพนมไพร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีนายสุเทพ พิมพิรัตน์ นายอำเภอพนมไพร นายประเสริฐ วรกาญจนบุญ ประธานชมรมจิตอาสาประชารัฐอำเภอพนมไพร นายทองแดง แสนศรี ประธานชมรมผู้สูงอายุอำเภอพนมไพร นางสมพิศ หันชัยยุงวา ประธาน อสม.ตำบลพนมไพร นายวิชัย พลสะทอน ผู้ช่วยสาธารณสุขอำเภอพนมไพร และนางบังอร สิมสีแก้ว รองผู้อำนวยการด้านการพยาบาล เป็นสักขีพยานบนเวที และมีเครือข่ายจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด คณะผอ.รพ.สต.ทุกแห่ง และบุคลากร รพ.พนมไพร ร่วมในพิธี และเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือฯ ในครั้งนี้

วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม 2562 ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กับ Beijing Sport University ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยกีฬาที่มีชื่อเสียงด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาและเวชศาสตร์การกีฬาอันดับหนึ่ง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและอาจารย์ การวิจัย รวทั้งการพัฒนานวัตกรรมร่วมกันด้านวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ โดยมี ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจิรพร เหล่าธรรมทัศน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ และ รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริรัตน์ หิรัญรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ พร้อมคณาอาจารย์ เข้าร่วมพิธีลงนามในครั้งนี้

29 เมษายน 2562 - รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โดยคุณวิไลวรรณ ตันจ้อย เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ , สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) โดย ดร.พรเทพ นิศามณีพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) โดยศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร. สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 4 อาคารศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยมีขอบข่ายความร่วมมือกับทั้ง 3 สถาบัน สนับสนุนโครงการรักษามะเร็งด้วยเครื่องโปรตอนและคาร์บอน ในด้านการพัฒนางานวิจัย พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์และประโยชน์อื่นๆ จากเครื่องเร่งอนุภาค การใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์และรังสี ตลอดจนความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนบุคลากรทางการแพทย์ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ วิศวกรและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง โดยมีศาตราจารย์ ดร.แพทย์หญิงจิรายุ เอื้อวรากุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณะสุข พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และคณะผู้บริหารจากทั้ง 3 สถาบันเข้าร่วมเป็นเกียรติและสักขีพยานในพิธีดังกล่าว
ความร่วมมือของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์กับทั้ง 3 สถาบันในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นก้าวแรกของความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม และนำไปสู่การพัฒนาสู่ความสำเร็จของโครงการรักษามะเร็งด้วยเครื่องโปรตอนและคาร์บอน ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วยและต่อประเทศต่อไปในอนาคต

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2561 ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จไปในพิธีลงพระนามและลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีขอบข่ายความร่วมมือในการเป็นสถาบันร่วมสอน เพื่อผลิตนักศึกษาของหลักสูตรแพทยศาสตรบันฑิต และสัตวแพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ รวมถึงความร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนหมวดวิชาพื้นฐานการศึกษาทั่วไป และสนับสนุนสถานที่เพื่อการศึกษา และทักษะการเรียนรู้ของนักศึกษา เช่น หอสมุด และสนามกีฬา ณ ชั้น 10 อาคารศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์

ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้จัดตั้งวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ เพื่อเป็นส่วนงานในการดำเนินการจัดทำหลักสูตรแพทยศาสตร์ หลักสูตรพยาบาลศาสตร์ และหลักสูตรวิทยาศาสตร์สุขภาพอื่น ๆ ทั้งในระดับปริญญาตรี และระดับปริญญาโท ภายในโครงการเฉลิมพระเกียรติ 90 ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2560 โดย ณ ปัจจุบันทางวิทยาลัยฯ กำลังเปิดรับสมัครบุคคลเข้าศึกษาระดับปริญญาตรี ประจำปีการศึกษา 2562 ซึ่งเป็นนักศึกษารุ่นที่ 3 ของวิทยาลัยฯ ได้แก่ หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารังสีเทคนิค และหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ โดยมีหลักสูตรน้องใหม่เพิ่มเติมในระดับปริญญาตรีอีก 1 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ และระดับปริญญาโท จำนวน 1 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาฟิสิกส์การแพทย์

เมื่อวันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข ลงนามข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาระบบการให้บริการทางการแพทย์ บุคลากรและการวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ป่วยและประชาชนในการเข้าถึงบริการสุขภาพ อย่างมีคุณภาพ ทั่วถึง และเท่าเทียมกัน
โดยมีศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข โดยนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิงจิรายุ เอื้อวรากุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน
สำหรับความร่วมมือตามข้อตกลงมี 3 ด้าน ได้แก่
1. การพัฒนาระบบการให้บริการทางการแพทย์ เช่นการรักษาผู้ป่วยมะเร็งโดยเทคโนโลยีโปรตอนและไอออนหนัก
การดูแลรักษาผู้ป่วยเฉพาะทาง การร่วมกันใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์และการวิจัยทางการแพทย์ที่มีมูลค่าสูงของทั้งสองฝ่าย เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ป่วยและสังคมไทย
2. การพัฒนาบุคลากร อาทิ การให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติงานของบุคลากร นักศึกษา และแพทย์ใช้ทุนของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อเพิ่มพูนทักษะความรู้ความสามารถในการให้บริการด้านสุขภาพ
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์สนับสนุนการอบรม การผลิตบุคลากรตามความต้องการของกระทรวงสาธารณสุข
3. การพัฒนากิจกรรมด้านการวิจัยและวิชาการ ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข รวมถึงสาขาวิชาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่นวัตกรรมด้านสุขภาพที่หลากหลาย อาทิ การวิจัยการดูแลผู้สูงอายุแบบองค์รวม การวิจัยคุณสมบัติทางการแพทย์ของพืชและสมุนไพร เป็นต้น

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม 2561 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โดยผู้บริหารราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และผู้บริหารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว พร้อมด้วยพลอากาศตรี นายแพทย์สันติ ศรีเสริมโภค ผู้ช่วยเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิงจิรายุ เอื้อวรากุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และผู้บริหารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต ร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน

กรอบแนวความร่วมมือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ แลกเปลี่ยนความรู้ และความเข้าใจทางวิชาการด้านสัตวแพทยศาสตร์ การพัฒนาบุคลากรด้านการสัตวแพทย์ ความร่วมมือในการผลิตนักศึกษาหลักสูตรสัตวแพทยศาสตรบัณฑิตของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทั้งนี้เพื่อยังให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติต่อไปในอนาคต

26 เมษายน 2562 - ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กับมหาวิทยาลัยโคเวนทรี ประเทศสหราชอาณาจักร ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 4 อาคารศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยมีขอบข่ายความร่วมมือทางการศึกษาและวิชาการ การร่วมกันพัฒนาหลักสูตร ให้การสนับสนุนด้านงานวิจัย และการส่งเสริมทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษาเพื่อให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นสถาบันการศึกษาที่ผลิตบัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่มีศักยภาพและพร้อมยกระดับสู่สากลต่อไป โดยมีคณะผู้บริหารจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ และโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เข้าร่วมเป็นเกียรติและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ร่วมกับ ราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย และสถาบันพยาธิวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กับราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย โดยนายแพทย์ทรงคุณ วิญญูวรรธน์ ประธานราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย และ สถาบันพยาธิวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดย แพทย์หญิงภัทรา อังสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพยาธิวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU)ว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการสร้างเครือข่าย Telepathology ระหว่าง 3 สถาบัน โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการส่งเสริม สนับสนุน ร่วมพัฒนา และประสานความร่วมมือ สร้างเครือข่าย Telepathology ในประเทศไทย เพื่อยกระดับการให้บริการ ระบบการประสานงานระหว่างหน่วยงาน การพัฒนาบุคลากร การเพิ่มศักยภาพพยาธิแพทย์ ตามภารกิจและขีดความสามารถของทั้ง 3 หน่วยงาน โดยมีคณะผู้บริหารของทั้ง 3 สถาบันร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี จัดขึ้น ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคารที่ทำการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ความร่วมมือของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์กับทั้ง 2 สถาบันในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวแรกของความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมและเป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่การพัฒนากระบวนการในการวินิจฉัยและพัฒนาด้านพยาธิแพทย์ เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป

15 สิงหาคม 2562: ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และรักษาการอธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ พร้อมด้วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจิรพร เหล่าธรรมทัศน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ กาสลัก ผู้รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา, นายสละ อุบลฉาย นายกสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มารุต ตั้งวัฒนาชุลีพร คณบดีคณะสหเวชศาสตร มหาวิทยาลัยบูรพา
ดร.อภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC-HDC) และคณะผู้บริหารราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กับ มหาวิทยาลัยบูรพา โดยรองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ กาสลัก ผู้รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา ณ ห้องประชุม คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ อาคารศูนย์การแพทย์จุฬาภรณ์เฉลิมพระเกียรติ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยมีกรอบแนวทางความร่วมมือกันสนับสนุนและบริหารการจัดการศึกษา และการพัฒนาหลักสูตรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ร่วมกันพัฒนาสร้างหลักสูตร และจัดการเรียนการสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารังสีเทคนิค เพื่อการพัฒนาบุคลากรด้านการแพทย์ครบวงจรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC-HDC) สร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ และกำลังคนที่มีสมรรถนะเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย รวมถึงการพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพ และความเข้มแข็งทางวิชาการ สร้างองค์ความรู้ด้านการวิจัย ตลอดจน
ประสานความร่วมมือสร้างเครือข่ายที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือในอนาคต

เมื่อวันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 : กองบัญชาการกองทัพไทย นำโดย พลอากาศตรี พิทักษ์ วีระวัฒกานนท์ , นาวาอากาศเอก อนุชา จินตาวงศ์ , นาวาอากาศเอกหญิง พนัชกร สงวนวงษ์ และนาวาอากาศโทหญิง ธนาวดี เจริญสุข เข้าพบ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจิรพร เหล่าธรรมทัศน์ รองอธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์และการตลาด เข้าประชุมร่วมกับฝ่ายประชาสัมพันธ์และการตลาด, ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด และศูนย์ภาพวินิจฉัยและร่วมรักษาเพื่อปวงชน เพื่อหารือถึงแนวทางที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการกับข้าราชการจากกลุ่มกองทัพไทย ในกลุ่มของผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงบริการตรวจวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ของศูนย์ภาพวินิจฉัยและร่วมรักษาเพื่อปวงชน พร้อมทั้งสร้างฐานผู้ใช้บริการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ให้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อเครือข่ายองค์กรพันธมิตรต่อไป

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 09.00 น. พลอากาศตรี นายแพทย์สันติ ศรีเสริมโภค ผู้ช่วยเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ด้านสนับสนุนและพัฒนาโครงการใหม่ และรองประธานโครงการศูนย์บำบัดรักษาโปรตอน – คาร์บอนแห่งชาติ ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมด้วยเลขานุการคณะกรรมการโครงการศูนย์บำบัดรักษาโปรตอน – คาร์บอนแห่งชาติ ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เข้าร่วมหารือ คณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อเชิญบุคลากรในสังกัดเป็นคณะอนุกรรมการวางแผน การวิจัย และการกำหนดอัตราค่าบริการการรักษา และการบูรณาการความร่วมมือสนับสนุนและพัฒนาโครงการ ศูนย์บำบัดรักษาโปรตอน – คาร์บอนแห่งชาติ ศรีสวางควัฒน โดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นศูนย์กลางของประเทศในการใช้บริการและการบูรณาการการดำเนินโครงการต่างๆ ร่วมกันของทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง ตลอดจนเพื่อเพิ่มศักยภาพการรักษาโรคมะเร็ง และรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงทางด้านการซ่อมบำรุงและด้านการผลิตเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อผลิตบุคลากรในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญสู่อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรกลทางการแพทย์ให้กับประเทศไทย ในโอกาสนี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้อัญเชิญหนังสือพระราชทานพระวินิจฉัยในศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แก่คณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในการร่วมมือพัฒนาโครงการศูนย์บำบัดรักษาโปรตอน – คาร์บอนแห่งชาติ ศรีสวางควัฒน โดยมุ่งหวังว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยยกระดับคุณภาพ ประสิทธิภาพ และศักยภาพการรักษาโรคมะเร็งในประเทศไทย ซึ่งการรักษาโรคมะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอนหรือคาร์บอน เป็นเทคโนโลยีที่สามารถเข้าถึงเซลล์มะเร็งในตำแหน่งที่ซับซ้อน ลดระยะเวลา ลดผลข้างเคียง และเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งได้ ลดอัตราการเสียชีวิต และขยายโอกาสทางการรักษาแก่ประชาชนทุกกลุ่มทั่วประเทศได้อย่างเสมอภาคทัดเทียมกัน

เมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๖๓ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ร่วมกับกรมปศุสัตว์ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่ ระหว่าง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ พร้อมด้วย รองศาตราจารย์ นายสัตวแพทย์ปานเทพ รัตนากร ผู้ช่วยเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ด้านพัฒนาวิทยาเขตและการสัตวแพทย์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ร่วมลงนามเป็นสักขีพยานในพิธี ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น ๓ อาคารบริหาร ๒ สำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ได้มอบพื้นที่ราชพัสดุในพื้นที่ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อการก่อสร้างอาคารคณะสัตวแพทยศาสตรและสัตววิทยาประยุกต์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ และส่วนกิจกรรมปศุสัตว์ นิทรรศการ การถ่ายทอดความรู้ และตลาดกลางสู่เกษตรกรและประชาชน เพื่อรวมกันพัฒนาบุคลากรด้านสัตวแพทย์และปศุสัตว์ ทั้งในด้านการศึกษา การฝึกอบรม การฝึกงาน โครงสร้างพื้นฐาน การถ่ายทอดความรู้ ตลอดจนความร่วมมือในการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ และการบริหารจัดการที่จะก่อประโยชน์ต่องานด้านสุขภาพสัตว์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศให้มีการพัฒนาก้าวหน้าต่อไป สำหรับ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ดำเนินการจัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์และสัตววิทยาประยุกต์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ เพื่อพัฒนาหลักสูตรสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต (นานาชาติ) และหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับปริญญาตรี และระดับบัณฑิตศึกษา เพื่อการผลิตและพัฒนาบุคลากร ตลอดจนงานวิชาการและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ รวมถึงงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านสุขภาพให้มีการพัฒนาได้อย่างมีคุณภาพ มาตรฐาน และมีปริมาณสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ

เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ เวลา ๑๐.๓๐ น. พลอากาศตรี นายแพทย์สันติ ศรีเสริมโภค ผู้ช่วยเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ด้านสนับสนุนและพัฒนาโครงการใหม่ และรองประธานโครงการศูนย์บำบัดรักษาโปรตอน – คาร์บอนแห่งชาติ ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมด้วยเลขานุการคณะกรรมการโครงการศูนย์บำบัดรักษาโปรตอน – คาร์บอนแห่งชาติ ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เข้าร่วมหารือคณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเชิญบุคลากรในสังกัดเป็นคณะอนุกรรมการวางแผน การวิจัย และการกำหนดอัตราค่าบริการการรักษา และการบูรณาการความร่วมมือสนับสนุนและพัฒนาโครงการ ศูนย์บำบัดรักษาโปรตอน – คาร์บอนแห่งชาติ ศรีสวางควัฒน โดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นศูนย์กลางของประเทศในการใช้บริการและการบูรณาการการดำเนินโครงการต่างๆ ร่วมกันของทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง ตลอดจนเพื่อเพิ่มศักยภาพการรักษาโรคมะเร็ง และรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงทางด้านการซ่อมบำรุงและด้านการผลิตเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อผลิตบุคลากรในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญสู่อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรกลทางการแพทย์ให้กับประเทศไทย ในโอกาสนี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้อัญเชิญหนังสือพระราชทานพระวินิจฉัยในศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แก่คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในการร่วมมือพัฒนาโครงการศูนย์บำบัดรักษาโปรตอน – คาร์บอนแห่งชาติ ศรีสวางควัฒน โดยมุ่งหวังว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยยกระดับคุณภาพ ประสิทธิภาพ และศักยภาพการรักษาโรคมะเร็งในประเทศไทย ซึ่งการรักษาโรคมะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอนหรือคาร์บอน เป็นเทคโนโลยีที่สามารถเข้าถึงเซลล์มะเร็งในตำแหน่งที่ซับซ้อน ลดระยะเวลา ลดผลข้างเคียง และเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งได้ ลดอัตราการเสียชีวิต และขยายโอกาสทางการรักษาแก่ประชาชนทุกกลุ่มทั่วประเทศได้อย่างเสมอภาคทัดเทียมกัน

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 13.00 น. พลอากาศตรี นายแพทย์สันติ ศรีเสริมโภค ผู้ช่วยเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ด้านสนับสนุนและพัฒนาโครงการใหม่ และรองประธานโครงการศูนย์บำบัดรักษาโปรตอน – คาร์บอนแห่งชาติ ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมด้วยเลขานุการคณะกรรมการโครงการศูนย์บำบัดรักษาโปรตอน – คาร์บอนแห่งชาติ ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เข้าร่วมหารือกับ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเชิญบุคลากรในสังกัดเป็นคณะอนุกรรมการวางแผน การวิจัย และการกำหนดอัตราค่าบริการการรักษา และการบูรณาการความร่วมมือสนับสนุนและพัฒนาโครงการ ศูนย์บำบัดรักษาโปรตอน – คาร์บอนแห่งชาติ ศรีสวางควัฒน โดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นศูนย์กลางของประเทศในการใช้บริการและการบูรณาการการดำเนินโครงการต่างๆ ร่วมกันของทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง ตลอดจนเพื่อเพิ่มศักยภาพการรักษาโรคมะเร็ง และรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงทางด้านการซ่อมบำรุงและด้านการผลิตเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อผลิตบุคลากรในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญสู่อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรกลทางการแพทย์ให้กับประเทศไทย ในโอกาสนี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้อัญเชิญหนังสือพระราชทานพระวินิจฉัยในศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แก่คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการร่วมมือพัฒนาโครงการศูนย์บำบัดรักษาโปรตอน – คาร์บอนแห่งชาติ ศรีสวางควัฒน โดยมุ่งหวังว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยยกระดับคุณภาพ ประสิทธิภาพ และศักยภาพการรักษาโรคมะเร็งในประเทศไทย ซึ่งการรักษาโรคมะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอนหรือคาร์บอน เป็นเทคโนโลยีที่สามารถเข้าถึงเซลล์มะเร็งในตำแหน่งที่ซับซ้อน ลดระยะเวลา ลดผลข้างเคียง และเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งได้ ลดอัตราการเสียชีวิต และขยายโอกาสทางการรักษาแก่ประชาชนทุกกลุ่มทั่วประเทศได้อย่างเสมอภาคทัดเทียมกัน

เมื่อวันที่ ที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ เวลา ๑๑.๓๐ น. พลอากาศตรี นายแพทย์สันติ ศรีเสริมโภค ผู้ช่วยเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ด้านสนับสนุนและพัฒนาโครงการใหม่ และรองประธานโครงการศูนย์บำบัดรักษาโปรตอน – คาร์บอนแห่งชาติ ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมด้วยเลขานุการคณะกรรมการโครงการศูนย์บำบัดรักษาโปรตอน – คาร์บอนแห่งชาติ ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เข้าร่วมหารือผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เพื่อเชิญบุคลากรในสังกัดเป็นคณะอนุกรรมการวางแผน การวิจัย และการกำหนดอัตราค่าบริการการรักษา และการบูรณาการความร่วมมือสนับสนุนและพัฒนาโครงการ ศูนย์บำบัดรักษาโปรตอน – คาร์บอนแห่งชาติ ศรีสวางควัฒน โดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นศูนย์กลางของประเทศในการใช้บริการและการบูรณาการการดำเนินโครงการต่างๆ ร่วมกันของทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง ตลอดจนเพื่อเพิ่มศักยภาพการรักษาโรคมะเร็ง และรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงทางด้านการซ่อมบำรุงและด้านการผลิตเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อผลิตบุคลากรในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญสู่อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรกลทางการแพทย์ให้กับประเทศไทย ในโอกาสนี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้อัญเชิญหนังสือพระราชทานพระวินิจฉัยในศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แก่ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ในการร่วมมือพัฒนาโครงการศูนย์บำบัดรักษาโปรตอน – คาร์บอนแห่งชาติ ศรีสวางควัฒน โดยมุ่งหวังว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยยกระดับคุณภาพ ประสิทธิภาพ และศักยภาพการรักษาโรคมะเร็งในประเทศไทย ซึ่งการรักษาโรคมะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอนหรือคาร์บอน เป็นเทคโนโลยีที่สามารถเข้าถึงเซลล์มะเร็งในตำแหน่งที่ซับซ้อน ลดระยะเวลา ลดผลข้างเคียง และเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งได้ ลดอัตราการเสียชีวิต และขยายโอกาสทางการรักษาแก่ประชาชนทุกกลุ่มทั่วประเทศได้อย่างเสมอภาคทัดเทียมกัน

เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ เวลา ๙.๐๐ น. พลอากาศตรี นายแพทย์สันติ ศรีเสริมโภค ผู้ช่วยเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ด้านสนับสนุนและพัฒนาโครงการใหม่ และรองประธานโครงการศูนย์บำบัดรักษาโปรตอน – คาร์บอนแห่งชาติ ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมด้วยเลขานุการคณะกรรมการโครงการศูนย์บำบัดรักษาโปรตอน – คาร์บอนแห่งชาติ ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เข้าร่วมหารือผู้อำนวยการสถาบันวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า เพื่อเชิญบุคลากรในสังกัดเป็นคณะอนุกรรมการวางแผน การวิจัย และการกำหนดอัตราค่าบริการการรักษา และการบูรณาการความร่วมมือสนับสนุนและพัฒนาโครงการ ศูนย์บำบัดรักษาโปรตอน – คาร์บอนแห่งชาติ ศรีสวางควัฒน โดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นศูนย์กลางของประเทศในการใช้บริการและการบูรณาการการดำเนินโครงการต่างๆ ร่วมกันของทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง ตลอดจนเพื่อเพิ่มศักยภาพการรักษาโรคมะเร็ง และรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงทางด้านการซ่อมบำรุงและด้านการผลิตเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อผลิตบุคลากรในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญสู่อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรกลทางการแพทย์ให้กับประเทศไทย ในโอกาสนี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้อัญเชิญหนังสือพระราชทานพระวินิจฉัยในศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แก่ ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ในการร่วมมือพัฒนาโครงการศูนย์บำบัดรักษาโปรตอน – คาร์บอนแห่งชาติ ศรีสวางควัฒน โดยมุ่งหวังว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยยกระดับคุณภาพ ประสิทธิภาพ และศักยภาพการรักษาโรคมะเร็งในประเทศไทย ซึ่งการรักษาโรคมะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอนหรือคาร์บอน เป็นเทคโนโลยีที่สามารถเข้าถึงเซลล์มะเร็งในตำแหน่งที่ซับซ้อน ลดระยะเวลา ลดผลข้างเคียง และเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งได้ ลดอัตราการเสียชีวิต และขยายโอกาสทางการรักษาแก่ประชาชนทุกกลุ่มทั่วประเทศได้อย่างเสมอภาคทัดเทียมกัน

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 เวลา 13.00 น. พลอากาศตรี นายแพทย์สันติ ศรีเสริมโภค ผู้ช่วยเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ด้านสนับสนุนและพัฒนาโครงการใหม่ และรองประธานโครงการศูนย์บำบัดรักษาโปรตอน – คาร์บอนแห่งชาติ ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมด้วยเลขานุการคณะกรรมการโครงการศูนย์บำบัดรักษาโปรตอน – คาร์บอนแห่งชาติ ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เข้าร่วมหารือกับ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และได้รับเกียรติจากนายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา มาร่วมต้อนรับและร่วมรบฟังวัตถุประสงค์โครงการฯ เพื่อเชิญบุคลากรในสังกัดเป็นคณะอนุกรรมการวางแผน การวิจัย และการกำหนดอัตราค่าบริการการรักษา และการบูรณาการความร่วมมือสนับสนุนและพัฒนาโครงการ ศูนย์บำบัดรักษาโปรตอน – คาร์บอนแห่งชาติ ศรีสวางควัฒน โดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นศูนย์กลางของประเทศในการใช้บริการและการบูรณาการการดำเนินโครงการต่างๆ ร่วมกันของทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง ตลอดจนเพื่อเพิ่มศักยภาพการรักษาโรคมะเร็ง และรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงทางด้านการซ่อมบำรุงและด้านการผลิตเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อผลิตบุคลากรในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญสู่อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรกลทางการแพทย์ให้กับประเทศไทย ในโอกาสนี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้อัญเชิญหนังสือพระราชทานพระวินิจฉัยในศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แก่คณบดีคณแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการร่วมมือพัฒนาโครงการศูนย์บำบัดรักษาโปรตอน – คาร์บอนแห่งชาติ ศรีสวางควัฒน โดยมุ่งหวังว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยยกระดับคุณภาพ ประสิทธิภาพ และศักยภาพการรักษาโรคมะเร็งในประเทศไทย ซึ่งการรักษาโรคมะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอนหรือคาร์บอน เป็นเทคโนโลยีที่สามารถเข้าถึงเซลล์มะเร็งในตำแหน่งที่ซับซ้อน ลดระยะเวลา ลดผลข้างเคียง และเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งได้ ลดอัตราการเสียชีวิต และขยายโอกาสทางการรักษาแก่ประชาชนทุกกลุ่มทั่วประเทศได้อย่างเสมอภาคทัดเทียมกัน

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 : ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชและสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ด้านวิชาการและบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นประธานในพิธีและร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์ เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช และนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมลงนามในพิธี พร้อมด้วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจิรพร เหล่าธรรมทัศน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และคณะผู้บริหารบุคลากรราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมในพิธี ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 3 อาคารบริหาร 2 สำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ก่อตั้งขึ้นตามพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี มีวิสัยทัศน์มุ่งสู่การเป็นบ้านแห่งการเรียนรู้และเป็นแหล่งบ่มเพาะบุคลากร ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสุขภาพ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประเทศชาติและประชาชน จัดการศึกษาที่มุ่งเน้นการสร้างคนเพื่อสร้างชาติในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพที่ขาดแคลน สร้างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่ได้มาตรฐานวิชาชีพ และมาตรฐานทางวิชาการในระดับสากล เพื่อส่งเสริมการดูแลสุขภาพของปวงชนชาวไทยด้วยผู้เชี่ยวชาญให้ครอบคลุม โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทห่างไกลทุรกันดาร หนึ่งในหลักสูตรการเรียนการสอนของคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ คือ โรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นสถาบันแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ที่จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2560 โดยความร่วมมือกับ Monash University ประเทศออสเตรเลีย มุ่งเน้นการผลิตนักอัลตราซาวด์ที่มีความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญในศาสตร์ทางด้านอัลตราซาวด์ โดยมีหลักสูตรการฝึกอบรมระยะสั้นทางด้านอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ และหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสัทภาพการแพทย์ ในปี พ.ศ.2562 ที่ทางรัฐบาลได้จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ตลอดจนสนองพระปณิธานในองค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่มีพระประสงค์จะช่วยเหลือผู้ยากไร้ในพื้นที่ชนบทห่างไกลทุรกันดาร ทางคณะฯจึงได้จัดทำ “โครงการพัฒนานักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และมุ่งพัฒนาบุคลากรของโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล และขาดแคลนผู้ปฏิบัติงานให้มีความรู้และทักษะในการตรวจวิเคราะห์ด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ จากจุดเริ่มต้นโครงการดังกล่าว คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ดำเนินการโครงการเฉลิมพระเกียรติเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระชนมายุ 60 พรรษา เพื่อผลิตนักอัลตราซาวด์ จำนวน 1,200 คน ในเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 – 2567 โดยร่วมกับมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ตระหนักถึงความสำคัญในทางด้านวิชาการและบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข โดยได้จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือด้านวิชาการและบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข ระหว่างทั้ง 3 องค์กรขึ้น ภายใต้กรอบความร่วมมือในการจัดทำโครงการพัฒนาทางด้านวิชาการ การบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข การพัฒนาด้านการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องอัลตราซาวด์และการพัฒนาการบริการการแพทย์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช และโรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 รวม 31 แห่ง เพื่อพัฒนาและเพิ่มศักยภาพในการตรวจรักษาโรคทางการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ การพัฒนาการบริการ และการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อให้โรงพยาบาลเหล่านี้สามารถใช้เครื่องอัลตราซาวด์ในการวินิจฉัย และดูแลผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วและทันกับสถานการณ์ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข รวมทั้งก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม

เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2563 : ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับกองบัญชาการกองทัพไทย จัดพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) ด้านการวิจัยและพัฒนา ด้านการศึกษาและฝึกอบรมด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และพลเอก พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กองบัญชาการกองทัพไทย พร้อมด้วย คุณวลฺลภ ยุติธรรมดำรง รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ด้านบริหาร พลอากาศตรี นายแพทย์สันติ ศรีเสริมโภค ผู้ช่วยเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ด้านสนับสนุนและพัฒนาโครงการใหม่ พลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ เสนาธิการทหารร่วมลงนามในพิธี ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น ๓ อาคารบริหาร ๒ สำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยมีกรอบแนวทางความร่วมมือ เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และประสานความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา ด้านการศึกษาและฝึกอบรมด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กับ กองบัญชาการกองทัพไทย ตามภารกิจและขีดความสามารถของทั้งสองหน่วยงาน รวมทั้งเพื่อเป็นการสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์แพทย์ภัยพิบัติและฉุกเฉินเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ เพื่อให้เป็นไปตามพระปณิธานใน สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติต่อไป พร้อมกันนี้ ทางกองบัญชาการกองทัพไทย โดยพลเอก พรพิพัฒน์ เบญญศรี ท่านผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้มอบหน้ากาก N95 จำนวน 2,000 ชิ้น ให้กับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อเป็นประโยชน์กับบุคลากรทางการแพทย์ในการป้องกันและคุ้มครองความปลอดภัยแก่บุคลากรทางการแพทย์เพื่อดูแลผู้ป่วยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ต่อไป

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563   ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ ระหว่าง ศูนย์เต้านมนานาชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กับ มูลนิธิถันยรักษ์ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ศูนย์ถันยรักษ์ โรงพยาบาลศิริราช โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ แพทย์หญิง คุณหญิงสำอางค์ คุรุรัตน์พันธ์ รองประธานศูนย์ถันยรักษ์ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นผู้ลงนามบันทึกความร่วมมือ และ พล.ท.รศ.นพ.วิชัย วาสนสิริ หัวหน้างานศูนย์เต้านมนานาชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร่วมเป็นพยาน ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 4 อาคารศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และประสานความร่วมมือด้านการวิจัย และพัฒนาด้านการศึกษา การฝึกอบรมด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนความร่วมมือในการพัฒนาโครงการตรวจคัดกรองเต้านมด้วยเครื่องอัลตราซาวด์อัตโนมัติ รวมถึงความร่วมมือในโครงการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่าต้านภัยมะเร็งเต้านม ตามพระราชปณิธาน ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และ พระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่ทรงมุ่งหวังให้ประชาชนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น