แคปซูลกล้องไร้สายส่องลำไส้

๓ มี.ค. ๒๕๖๖ | การดู ๑๐๑๖ ครั้ง

image widget
image widget

“มะเร็งลำไส้” เป็นโรคที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับต้น ๆ และถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยที่มีแนวโน้มอัตราการเกิดโรคสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ ๓ ในผู้ชายและอันดับ ๒ ในผู้หญิง มีผู้ป่วยใหม่ประมาณปีละ ๑๓,๐๐๐ รายและเสียชีวิตถึง ๕,๐๐๐ ราย มะเร็งลำไส้เป็นมะเร็งที่สามารถตรวจคัดกรองเพื่อค้นหามะเร็งในระยะเริ่มแรกได้ และช่วยให้การรักษาได้ผลดีและมีโอกาสหายจากโรคสูง ซึ่งการส่องกล้องแบบแคปซูลหรือ Capsule Endoscopy ที่เป็นการกลืนกล้องขนาดเล็กเข้าไปเก็บภาพทางเดินอาหาร (GI) นับเป็นเทคโนโลยีในการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้แบบใหม่ที่อาจช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยได้

การส่องกล้องแบบแคปซูลหรือ
Capsule Endoscopy เป็นการส่องกล้องโดยการกลืนแคปซูลขนาดประมาณเม็ดวิตามิน ภายในแคปซูลประกอบด้วยกล้องขนาดเล็ก เครื่องส่งสัญญาณและแสงไฟที่สามารถถ่ายภาพได้มากกว่า ๕๐,๐๐๐ ภาพและส่งภาพจะไปยังเครื่องบันทึกผ่านเครื่องเซ็นเซอร์ที่ผู้รับการตรวจติดไว้ที่ตัว โดยแคปซูลจะใช้เวลาประมาณแปดชั่วโมงในการเดินทางผ่านร่างกาย จากนั้นแพทย์จะอัปโหลดข้อมูลจากเครื่องบันทึกที่รวมรูปภาพทั้งหมดไว้ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์มองเห็นภาวะของช่องทางเดินอาหาร เช่นมีติ่งเนื้อ แผลพุพองหรือเลือดออก และสามารถวินิจฉัยโรคได้

​​​​​​​

ในการเตรียมตัวสำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้โดยการส่องกล้องแคปซูล ผู้รับการตรวจจำเป็นต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ดังต่อไปนี้อย่างเคร่งครัด
๑. งดสูบบุหรี่ ๒๔ ชั่วโมงก่อนทำหัตถการ
๒. ดื่มเครื่อมดื่มใสไม่มีสีเท่านั้นตั้งแต่วันก่อนทำหัตถการ เช่นเครื่องดื่มสำหรับผู้เสียเหงื่อ น้ำแอปเปิ้ล หรือเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่มองทะลุแก้วใสได้
๓. ในคืนก่อนทำหัตถการ รับประทานยาระบาย ตั้งแต่เวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น. เพื่อทำความสะอาดทางเดินอาหารเพื่อให้กล้องจับภาพพื้นผิวของลำไส้ได้ชัดเจน
๔. งดอาหารตั้งแต่เวลา ๒๒.๐๐ น. ในคืนก่อนวันทำหัตถการ รวมถึงงดอาหารเช้าในวันทำหัตถการ
๕. อาจต้องงดยาที่รับประทานเป็นประจำ ๒ ชั่วโมงก่อนการส่องกล้อง และ ๓
-๔ ชั่วโมงหลังจากที่กลืนแคปซูลแล้ว
๖. อาจจำเป็นต้องโกนขนบริเวณหน้าท้องหรือหน้าอก เพื่อให้สามารถติดเครื่องเซ็นเซอร์เพื่อรับข้อมูลจากแคปซูลได้อย่างปลอดภัย
๗. สวมเสื้อผ้าหลวมเพื่อให้มีที่ว่างสำหรับการติดเข็มขัดขั้วไฟฟ้า (อิเล็กโทรด) และเครื่องที่จะรับข้อมูลจากแคปซูล

หลังจากที่กลืนแคปซูลแล้ว ผู้รับการตรวจสามารถกลับบ้านและทำกิจกรรมอื่นได้ แต่ยังต้องสวมเข็มขัดขั้วไฟฟ้าให้ครบตามเวลาที่กำหนด โดยต้องหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ต้องใช้กำลังมาก การโก่งตัวหรือการเคลื่อนไหวที่มีความสั่นสะเทือนหรือหยุดกระทันหัน รวมไปถึงการเข้าใกล้เครื่อง MRI วิทยุและสถานที่ที่มีสนามแม่เหล็กแรงสูง (เช่นบริเวณสนามบิน หรืออาคารรัฐบาล) จนกว่าแคปซูลจะไม่อยู่ในร่างกาย นอกจากนี้ ควรตรวจสอบการรับสัญญาณจากแคปซูลของเครื่องบันทึกที่ติดอยู่กับเข็มขัดขั้วไฟฟ้า หากเครื่องบันทึกไม่ทำงาน ควรแจ้งแพทย์ทันทีและอย่าพยายามแก้ไขด้วยตนเอง และถ้ามีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เป็นตะคริวหรือปวดท้องขณะแคปซูลอยู่ข้างในร่างกาย ควรไปโรงพยาบาลทันที

แม้ว่าการส่องกล้องแบบแคปซูลสามารถตรวจปัญหาในลำไส้ได้ดีมาก แต่ก็มีข้อจำกัดบางประการ เนื่องจากกล้องจะถ่ายภาพโดยอัตโนมัติโดยไม่หยุดค้างหรือเล็งไปยังบริเวณที่ดูน่าสงสัย และอาจไม่เห็นภาพในบางพื้นที่ของทางเดินอาหารที่มีสิ่งกีดขวาง รวมทั้งเมือกและฟองอากาศ  นอกจากนี้ กล้องยังไม่สามารถส่องถึงพับด้านในของลำไส้ ซึ่งอาจทำให้ได้ภาพไม่เพียงพอต่อการวินิจฉัย จึงจำเป็นต้องมีการทดสอบเพิ่มเติม

​​​​​​​

image widget


​​​​​​​ผู้ที่มีอายุ ๕๐ ปีขึ้นไปควรรับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงโดยการตรวจหาเลือดที่แฝงในอุจจาระปีละครั้ง หากผิดปกติควรได้รับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ทั้งนี้ แพทย์อาจแนะนำการส่องกล้องแบบแคปซูลหากสงสัยว่าคุณมีโรคโครห์นและโรคลำไส้อักเสบในรูปแบบอื่น ๆ (
IBD) เลือดออกในทางเดินอาหาร โรคช่องท้อง การทำงานผิดปกติของลำไส้ใหญ่ ติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ในกรณีที่พบติ่งเนื้อหรือความผิดปกติในลำไส้ใหญ่ อาจจำเป็นต้องมีการทำหัตถการเพิ่มเติม เช่นตัดชิ้นเนื้อบริเวณดังกล่าวเพื่อวินิจฉัยต่อไป

​​​​​​​ผู้ที่เคยมีประวัติผ่าตัดทางเดินอาหาร อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ มีภาวะกลืนยาก มีสิ่งกีดขวางในลำไส้ หรือป่วยด้วยโรคท้องร่วงไม่เหมาะกับการส่องกล้องแบบแคปซูล เนื่องจากมีความเสี่ยง แพทย์อาจแนะนำให้ปรับเปลี่ยนขั้นตอนการส่องกล้องแบบแคปซูลหรือใช้การทดสอบวินิจฉัยอื่น