ความกำหนัด หรือความต้องการทางเพศที่ควบคุมได้และมีการแสดงออกอย่างเหมาะสมเป็นเรื่องปกติธรรมชาติของมนุษย์ แต่ถ้าความต้องการทางเพศเกิดขึ้นเฉพาะต่อเด็กก่อนวัยเริ่มเจริญพันธุ์หรือวัยเริ่มเจริญพันธุ์ในระยะต้น ๆ จัดเป็นกามวิปริต (Paraphilia) ประเภทหนึ่ง ซึ่งแม้จะมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคนี้มาหลายทศวรรษแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถระบุเหตุของโรคชัดเจนได้
โรคใคร่เด็ก (Pedophilia) ถือเป็นความผิดปกติทางจิตหรือโรคกามวิปริตที่เกี่ยวข้องกับความสนใจทางเพศที่ไม่เหมือนคนปกติทั่วไป และก่อให้เกิดความทุกข์หรืออันตรายแก่ตนเองและผู้อื่น มักเกิดกับผู้ใหญ่หรือวัยรุ่นตอนปลาย และในกรณีร้ายแรง ผู้ป่วยอาจก่อเหตุทางอาชญากรรมหรือการทารุณกรรมทางเพศต่อเด็กได้ ผู้ป่วยโรคใคร่เด็กมักเกิดแรงดึงดูดและจินตนาการทางเพศ หรือเกิดความรู้สึกทางเพศกับผู้เยาว์ที่ยังไม่ถึงวัยเจริญพันธุ์ ชอบการมีกิจกรรมทางเพศกับผู้เยาว์ที่ยังไม่ถึงวัยสมควร และสนใจดูสื่ออนาจารของเด็กที่เร่งเร้ากามารมณ์ ในขณะเดียวกันก็รู้สึกกดดันรันทด โดดเดี่ยวอ้างว้างและละอายในความรู้สึกของตนเอง โดยจะต้องมีอาการดังกล่าวไม่ต่ำกว่า ๖ เดือนจึงจะจัดว่าเป็นผู้ป่วยโรคใคร่เด็ก
ศาสตราจารย์วุฒิคุณ ดร. เรย์ บลองเชิร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านเพศศาสตร์และจิตเวชศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโตอธิบายว่า โดยทั่วไปผู้ป่วยด้วยโรคใคร่เด็กเป็นบุคคลที่มีรสนิยมทางเพศต่อเด็กอายุ ๑๓ ปีหรือน้อยกว่า หรือผู้ป่วยมักมีอายุมากกว่าเหยื่ออย่างน้อย ๕ ปี แต่ไม่จำเป็นที่ผู้ป่วยด้วยโรคนี้ทุกรายจะกระทำการล่วงละเมิดเด็กเสมอไป มีปัจจัยที่อาจมีบทบาทต่อการพัฒนาโรคใคร่เด็กของผู้ป่วยหลายปัจจัย นอกเหนือจากปัจจัยภายนอกอย่างการอบรมเลี้ยงดูและประสบการณ์ในวัยเด็ก นั่นก็คือปัจจัยที่เกี่ยวกับร่างกายของผู้ป่วย ได้แก่ พันธุกรรมและพันธุศาสตร์ด้านกระบวนการเหนือพันธุกรรม ความแตกต่างของโครงสร้างสมอง และฮอร์โมน
พันธุกรรม: การศึกษาเมื่อปี ๒๕๖๔ สอดคล้องกับการศึกษาอีก ๒ ชิ้นในปี ๒๕๕๘ รายงานความเป็นไปได้ที่โรคใคร่เด็กจะเป็นโรคกรรมพันธุ์ ในขณะที่การศึกษาในปีเดียวกันก่อนหน้านี้ พบว่าระดับของเซโรโทนินในสมอง ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่มีบทบาทสำคัญในการควบคุมพฤติกรรม มีความสัมพันธ์กับแรงกระตุ้นของอารมณ์และความก้าวร้าว นอกจากนั้น ยังมีการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ในปี ๒๕๖๕ พบว่าการเปลี่ยนแปลงทางพันธุศาสตร์ด้านกระบวนการเหนือพันธุกรรม (Epigenetics) อาจส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองและพัฒนาการทางเพศ โดยการกระตุ้นยีนที่เกี่ยวข้องกับระบบการสร้างสารเซโรโทนินในสมอง อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ยังพิจารณาว่าพันธุกรรมเป็นปัจจัยรองในการเกิดโรคดังกล่าว เนื่องจากปัจจัยเกี่ยวกับการเลี้ยงดูและประสบการณ์ อาทิ การทารุณกรรมในวัยเด็ก มีความเกี่ยวข้องที่ชัดเจนกว่า และยังคงต้องทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงทางพันธุศาสตร์ด้านกระบวนการเหนือพันธุกรรมกับโรคใคร่เด็กต่อไป
ความแตกต่างของโครงสร้างสมอง: การศึกษาผู้ที่มีอาการโรคใคร่เด็กในปี ๒๕๕๘ พบว่าเปลือกสมองส่วนหน้า (prefrontal cortex) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการตอบสนองต่อแรงกระตุ้นและพฤติกรรมทางเพศมีการทำงานแตกต่างจากคนปกติ นอกจากนี้ ความแตกต่างของสมองกลีบขมับ รวมไปถึงขนาดและรูปแบบการเชื่อมต่อทางประสาทของอะมิกดะลาในสมองกลีบขมับส่วนกลางยังมีความเชื่อมโยงกับรสนิยมและพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ปกติในลักษณะของโรคใคร่เด็กด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบความสัมพันธ์ระหว่างโรคใคร่เด็กกับความแตกต่างของเนื้อสมองสีขาวในระบบประสาทกลางของสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อสมองที่ได้รับบาดเจ็บหรือผิดปกติ
ฮอร์โมน: การศึกษาในปี ๒๕๖๓ รายงานความสัมพันธ์ของโรคใคร่เด็กกับปริมาณแอนโดรเจนหรือฮอร์โมนเพศชายของทารกในครรภ์ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนที่สามารถเปลี่ยนปริมาตรของส่วนต่าง ๆ ของสมองในลักษณะที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคใคร่เด็กได้หากมีในระดับสูง นอกจากนี้ ยังมีการทดลองทางคลินิกในผู้ที่เป็นโรคใคร่เด็กที่ต้องการความช่วยเหลือในปี ๒๕๖๓ เกี่ยวกับการรักษาด้วยฮอร์โมนและพบว่ายาลดฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนสามารถช่วยบรรเทาอาการของโรคใคร่เด็กได้ ทั้งในเชิงความคิดและพฤติกรรม
โรคใคร่เด็กสามารถรักษาได้ตามคำแนะนำของจิตแพทย์ โดยเริ่มจากการปรับพฤติกรรมของผู้ป่วยให้มีจิตใจที่เข้มแข็ง รู้จักยับยั้งชั่งใจไม่กระทำผิดต่อผู้เยาว์ได้ และอาจเพิ่มการรักษาด้วยยาที่ช่วยลดความรู้สึกทางเพศหรือยาต้านโรคซึมเศร้า รวมไปถึงแนะนำวิธีรับมือกับอารมณ์และความรู้สึกของตัวเอง รวมไปถึงความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่จะช่วยควบคุมความรู้สึกทางเพศต่อเด็ก และมีความสัมพันธ์กับผู้ที่อยู่ในวัยที่เหมาะสม
ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดโทษและลงโทษผู้ที่กระทำความผิดโดยคำนึงถึงความผิดปกติทางจิต ดังนั้น ผู้ป่วยด้วย “โรคใคร่เด็ก” ที่กระทำความผิดจึงอาจจะไม่เข้าข่ายการพิจารณาโทษในฐานะผู้ป่วยทางจิตเวช หากมีความผิด จะต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนี้
๑. การครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก
มีโทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปี หรือปรับไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา ๒๘๗/๑๗) ส่งต่อสื่อลามก มีโทษจำคุกไม่เกิน ๗ ปี หรือปรับไม่เกิน ๑๔๐,๐๐๐ บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา ๒๘๗/๑) เผยแพร่สื่อลามก มีโทษจำคุกตั้งแต่ ๓-๑๐ ปี และปรับตั้งแต่ ๖๐,๐๐๐-๒๐๐,๐๐๐ บาท (มาตรา ๒๘๗/๒)
๒. การกระทำความผิดฐานอนาจารเด็ก
เด็กอายุไม่เกิน ๑๓ ปี ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม มีโทษจำคุก ๑-๑๐ ปี หรือปรับ ๑๐,๐๐๐-๒๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา ๒๗๙)
เด็กอายุไม่เกิน ๑๕ ปี ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม มีโทษจำคุก ไม่เกิน ๑๐ ปี หรือปรับไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา ๒๗๙)
๓. การกระทำความผิดฐานกระทำชำเรา
เด็กอายุไม่เกิน ๑๓ ปี ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม มีโทษจำคุก ๗-๒๐ ปี และปรับ ๑๔๐,๐๐๐-๔๐๐,๐๐๐ บาท หรือจำคุกตลอดชีวิต (มาตรา ๒๗๗)
เด็กอายุไม่เกิน ๑๕ ปี ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม มีโทษจำคุก ๕-๒๐ ปี และปรับ ๑๐๐,๐๐๐-๔๐๐,๐๐๐ บาท (มาตรา ๒๗๗)
การสอนบุตรหลานให้รู้จักปกป้องสิทธิและร่างกายของตัวเองเป็นการสร้างเกราะป้องกันสุขภาพจิตตั้งแต่วัยเยาว์ การสอนลูกหลานหรือเยาวชนไม่ลังเลหรือหวาดกลัวที่จะขอความช่วยเหลือ หากถูกละเมิดทางเพศนั้นสำคัญอย่างยิ่ง และยังเป็นการตัดตอนวงจรของความผิดปกติทางจิตอีกด้วย เนื่องจากผู้ที่มีประวัติถูกล่วงละเมิดทางเพศมีเสี่ยงต่อการเป็นโรคใคร่เด็กและโรคทางจิตอื่น ๆ ที่รุนแรง หากบุตรหลานตกเป็นเหยื่อของผู้ที่เป็นโรคใคร่เด็กหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ สามารถแจ้งไปได้ที่ มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก โทร. ๐ ๒๔๑๒ ๑๑๙๖ (ในเวลาราชการ) หรือศูนย์ช่วยเหลือสังคม ๑๓๐๐ (ตลอด ๒๔ ชั่วโมง)
อ้างอิง
https://www.webmd.com/mental-health/features/explaining-pedophilia
https://psychcentral.com/disorders/causes-of-pedophilia#next-steps